Loading ...

ภาพประกอบจาก http://www.thaisecondhand.com/view/productpic/09/09/p7860932n1.jpg

วันเด็กปีนี้ก็เหมือนวันเด็กปีที่แล้ว และเหมือนกับปีอื่นๆ ที่เริ่มในเมืองไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2498 ว่ากันไปจริงๆ แล้วก็เหมือนกับวันเด็กที่จัดในประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศทั่วโลก

แม้กระนั้น ถ้ามองลึกลงไปกว่ากิจกรรมที่ทำซ้ำกันมาทุกปี วันเด็กไทยก็มีลักษณะเฉพาะของไทยเอง เพราะเราจะจัดวันเด็กให้เป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยมีความคิดและความหวังต่อเด็กอย่างไร แน่นอนว่าย่อมต่างจากความคิดความหวังของคนในต่างวัฒนธรรม

ก่อนที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติจะประกาศวันเด็กสากลใน พ.ศ.2497 สังคมต่างๆ ก็มีพิธีกรรมหรืองานฉลองสำหรับเด็กมานานเต็มทีแล้ว ผมขอยกงาน "วันเด็ก" แบบไทยและญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เพื่อจะนำไปสู่ข้อสรุปบางอย่างข้างหน้า

เราไม่มีวันสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับเด็กมากมาย นับตั้งแต่โกนผมไฟมาจนโกนจุก ผมขอพูดเฉพาะโกนจุก

โกนจุกเป็นพิธีกรรมของการผ่านวัยที่สำคัญอันหนึ่งของคนไทยภาคกลาง เด็กที่โกนจุกแล้วคือผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จากนั้นไปเขาต้องถูกฝึกหัดและเรียนรู้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของเขาในอันที่จะเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทระหว่างเพศ, บทบาททางเศรษฐกิจ, บทบาททางการเมือง หรือสังคม การฝึกหัดเรียนรู้นี้มาบรรลุถึงจุดสุดยอดในการอุปสมบท สึกออกมาก็เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว จะออกเหย้าออกเรือนก็ไม่มีใครท้วง

พิธีกรรมที่กระจายตั้งแต่เกิดจนสึกหาลาเพศนี้ แตก-ต่างจากการฉลองวันเด็กในปัจจุบันอย่างไร มองเห็นได้ชัดอยู่แล้ว ผมไม่จำเป็นต้องพูดอีก แต่มีข้อหนึ่งที่ผมอยากจะเน้นไว้ก็คือ พิธีกรรมทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมุ่งไปสู่การสร้างผู้ใหญ่ขึ้นจากเด็ก คุณสมบัติสำคัญของเด็กก็คือเขาเป็นหน่ออ่อนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ส่วนคุณสมบัติความเป็นเด็กกลับไม่ค่อยได้รับความสำคัญเท่าไรนัก เราจัดพิธีกรรมของเด็กเพื่ออนาคตของเขา ไม่ใช่ปัจจุบันของเขา

อย่างเดียวกับคำขวัญที่เราได้ยินอยู่เสมอแหละครับ "เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า" วันนี้จึงไม่มีทางเป็นวันของเด็กไปได้

พิธีกรรมวันเด็กแบบเก่าของญี่ปุ่นยิ่งเห็นประเด็นนี้ได้ชัด

วันที่ 5 เดือน 5 (ทางจันทรคติ-ปัจจุบันถือเอาวันที่ 5 พ.ค.) เป็นวันเด็กผู้ชาย ในขณะที่วันที่ 3 เดือน 3 เป็นวันเด็กผู้หญิง ในวันเด็กผู้ชาย บ้านเรือนที่มีลูกชายก็จะแขวนปลาคาร์พกระดาษไว้หน้าบ้าน เพราะคติจีนเชื่อว่าปลาคาร์พจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเป็นมังกร นั่นก็คือตั้งความหวังว่าลูกชายจะฟันฝ่าความยากลำบากต่างๆ ในชีวิต จนประสบความสำเร็จสุดยอดสักวันหนึ่งในอนาคต

สรุปก็คือ ในวันเด็ก เจ้าปลาคาร์พตัวน้อยในบ้านยังไม่มีความสำคัญจนกว่าจะว่ายไปถึงต้นน้ำ

การฉลองวันเด็กไทยในทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้แปรเปลี่ยนฐานคติเดิมนะครับ คือเป็นพิธีกรรมสำหรับนำเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ตัวเด็กเองไม่ค่อยมีความหมายเท่าไรนัก ผมไม่รู้จะยกตัวอย่างให้เห็นประเด็นนี้อย่างไรดี นอกจากยกเอาข้อความเกี่ยวกับ "วันเด็กแห่งชาติ" ซึ่งถูกโคว้ตจากหน่วยราชการ และที่ต่างๆ มากมายดังนี้

"เพื่อเตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ เด็กควรจะมีความขยันหมั่นศึกษาหาความรู้ รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ มีระเบียบวินัย ขยันขันแข็ง ช่วยเหลือกันและกัน เสียสละ รู้จักสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสาธารณสมบัติ ถ้าหากเด็กตระหนักถึงอนาคตของตนเองและของชาติโดยปฏิบัติตนตามที่กล่าวมานั้น ก็จะได้ชื่อว่าเป็น "เด็กดี" และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง"

และเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว เราก็นำให้เด็กรู้จักรัฐไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดหน่วยงานของรัฐให้เด็กเข้าเยี่ยมชม ทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร รวมแม้กระทั่งหน่วยทางการเมือง ผมออกจะสงสัยว่าจะทำให้เด็กกลายเป็น "เด็กดี" ด้วยวิธีนี้อย่างไร เพราะหน่วยราชการและการเมืองไทยได้ชื่อว่าไม่รับผิดชอบและไม่ซื่อสัตย์ที่สุดในบรรดาหน่วยงานทั้งหลายของประเทศ

แต่ก็ช่างเถิดครับ ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ "ผู้ใหญ่" ในอุดมคติของผู้จัดงานวันเด็ก คือผู้รู้จักรัฐดี ไม่ใช่คนที่รู้จักสังคมไทยดี, หรือชุมชนที่เขามีชีวิตอยู่ดี, หรือกลุ่มเครือญาติของเขาดี, หรืออะไรอื่นๆ ที่พ้องพานชีวิตจริงของเขา

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วันเด็กเป็นอีกวันหนึ่งที่เราอยากสร้างพลเมืองที่สยบยอมต่อรัฐ แทนที่จะสร้างพลเมืองที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความรับผิดชอบที่จะกำกับรัฐ

แม้กระนั้น เด็กก็หายไปในวันเด็กนะครับ คือยังเน้น "ผู้ใหญ่ในวันหน้า" มากกว่า "เด็กในวันนี้"

ความจริงแล้ว องค์การสหประชาชาติลงมติให้จัดงานวันเด็กสากลทั่วโลก เพื่อเน้นความสำคัญของเด็กในฐานะเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งมีความต้องการ, ความคิด, การเผชิญปัญหา, สภาพแวดล้อม, ฯลฯ ที่มีลักษณะเฉพาะของความเป็นเด็กของเขาเอง เด็กที่เป็นเด็กนี่แหละครับ ไม่ต้องสนใจว่าเขาจะเป็นผู้ใหญ่อย่างไร

พูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ เด็กมีสิทธิของความเป็นเด็ก ซึ่งพ่อแม่ครูบาอาจารย์, สังคมและรัฐต้องให้ความเคารพ หน่วยงานของสหประชาชาติได้ออกอนุสัญญาที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยให้สัตยาบันเกี่ยวกับสิทธิเด็ก และห้ามปรามการละเมิดสิทธิเหล่านั้นตามมาอีกสองสามฉบับ

แต่เด็กในทุกวันนี้ถูกทั้งรัฐและสังคมเผชิญภัยคุกคามนานาชนิด ทั่วทั้งโลกเลยนะครับไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย

ในทุกวันนี้ มีเด็กประมาณ 500-1,000 ล้านคนที่ตกอยู่ในภาวะทุโภชนาการ ที่น่าตระหนกไม่ใช่ตัวเลขนะครับ แต่น่าตระหนกเพราะในทุกวันนี้เรามีทั้งเทคโนโลยีและรู้วิธีจัดการที่จะลดเด็กหิวเหล่านี้ลงได้ 60-70% แต่เราขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะทำต่างหาก

ทั่วทั้งโลกใช้แรงงานเด็กจำนวนมาก รวมทั้งงานที่มีอนุสัญญาระหว่างประเทศห้ามใช้ และรวมสภาพการทำงานที่เลวร้ายและค่าตอบแทนที่น้อยนิด องค์กรกรรมกรระหว่างประเทศ ประมาณว่า 1 ใน 4 ของเด็กอายุตั้งแต่ 10-14 ปีถูกใช้แรงงานในประเทศโลกที่สาม นับเป็นประชากรหลายร้อยล้านคน

เอเชียเป็นดินแดนที่ใช้แรงงานเด็กมากที่สุด เฉพาะในอินเดียแห่งเดียว มีเด็กต้องใช้แรงงานอยู่ 44 ล้านคน หนึ่งในสี่ของแรงงานอินเดียมีอายุต่ำกว่า 14 ในอินโดนีเชียมีตัวเลขประมาณอย่างต่ำสุดกว่า 2.4 ล้านคน เด็กในมณฑลทางฝั่งตะวันออกของจีนลาออกจากโรงเรียนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม แม้ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่เมื่อโรงงานผลิตพลุระเบิดใน พ.ศ.2545 ส่วนใหญ่ของคนงาน 20 คนที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 9-14 ปี

ในประเทศไทย เด็กผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าได้รับค่าจ้างประมาณณ 2 บาทหากติดกระดุมได้ 100 เม็ด และต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง หนึ่งในสามรับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ

องค์กรกรรมกรระหว่างประเทศยังประเมินด้วยว่า ในบรรดาแรงงานเด็กเหล่านี้ 200 ล้านคนทำงานในระบบทาส, หรือถูกเกณฑ์, หรือเป็นทาสสินไถ่

โสเภณีเด็กก็เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ในประเทศไทยทั้งหน่วยงานของรัฐ, นักวิจัยในมหาวิทยาลัยและเอนจีโอประเมินตรงกันว่า มีโสเภณี 30,000-40,000 คนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งนี้ ยังไม่นับเด็กที่อพยพมาจากเพื่อนบ้าน

การล่มสลายของชุมชนและครอบครัวในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้เกิดเด็กเร่ร่อนเต็มไปหมดทั้งโลก องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ในละตินอเมริกามีเด็กเร่ร่อนไร้บ้านอยู่ 40 ล้านคน เฉพาะในบราซิล (เสือตัวใหม่จริงๆ) ก็มีถึง 10 ล้านคนเข้าไปแล้ว ในมนิลามีเด็กไร้บ้าน 75,000 คน ส่วนในกัลกัตตา, บอมเบย์ และนิวเดลลี มีไม่ต่ำกว่า 100,000 คนในแต่ละเมือง โดยสรุปก็คือเมืองใหญ่ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะการอพยพเข้าของเอเชีย รวมทั้งกรุงเทพฯ, โคราช, เชียงใหม่, หาดใหญ่, จาการ์ตา, ฯลฯ ก็ล้วนไม่น้อยหน้ามนิลาไปกี่มากน้อยทั้งนั้น

เด็กไทยยังถูกทำร้ายร่างกายในโรงเรียน เพราะเราเชื่อ (เหมือนสังคมโบราณอื่นๆ อีกมากทั่วโลก) ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ทั้งๆ ที่เราได้ลงนามและให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาสิทธิเด็กไปแล้ว ซึ่งห้ามการลงโทษเด็กทางร่างกาย

มีเรื่องที่จะพรรณนาถึงชะตากรรมที่เด็กทั้งโลกและเด็กไทย ต้องเผชิญอยู่จริงได้หมดทั้งเล่มของสุดสัปดาห์แหละครับ

และนี่คือสภาพความเป็นจริงของเด็กๆ ที่เด็กไทยไม่เคยถูกชักจูงให้เรียนรู้ ผมชอบการจัดงานวันเด็กของบังกลาเทศซึ่งเพิ่งจัดงานวันเด็กอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้วนี้เอง มูลนิธิ Jaago ซึ่งร่วมจัดด้วย ได้พาเด็กจรจรัดข้างถนนมา 500 คนซึ่งใช้ชีวิตลำเค็ญแต่เช้าจรดค่ำ ไปเที่ยวสวนสนุกและอื่นๆ ให้สำราญสักวันหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็รับอาสาสมัครเด็ก 500 คนที่มีปูมหลังชีวิตต่างกัน เข้ามาทำงานแทนเด็กจรจรัดเหล่านั้น เช่น ขายดอกไม้และอื่นๆ ข้างถนนบ้าง ส่วนตามสี่แยกก็แจกใบปลิวให้ผู้คนตระหนักต่อสิทธิเด็ก และรับเรี่ยไรเงินไปช่วยเด็กเร่ร่อน

ผมคงไม่เพ้อฝันถึงกับจะให้เราเลิกจัดงานวันเด็กอย่างที่จัดมาแล้ว อยากให้คำขวัญเพ้อเจ้ออย่างไรก็ให้ไปเถิดครับ จัดรถถังปืนใหญ่เครื่องบินให้เด็กปีนเล่นอย่างไร ก็จัดไป แต่ขอแถมมากกว่านั้นด้วยไม่ได้หรือครับ

ในทางลบก็คือ หันมาให้ความสนใจและให้ความรู้กันถึงชะตากรรมของเด็กไทยอีกมากต่อมากกันบ้าง เพราะถึงอย่างไรความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทย ก็ทำให้ชะตากรรมของเด็กอีกมากแย่ลงอย่างน่าสังเวช ช่วยกันคิดช่วยกันเถียงถึงทางออกที่เป็นไปได้ ในไอร์แลนด์เขามี "ผู้ตรวจการเรื่องเด็ก" (Ombudsman for Children) ซึ่งต้องรายงานต่อสังคมเกี่ยวกับปัญหาและการแก้ปัญหาของเด็ก

สำนักงานเยาวชนแห่งชาติน่าจะมีหน้าที่ทำรายงานเรื่องนี้เสนอแก่สังคมทุกวันเด็กนะครับ แต่ผมอยากฟังเรื่องจริง ไม่ได้อยากฟังนโยบายด้านเยาวชนของรัฐบาล

ในทางบวกก็คือ เรามีสาธารณูปโภคเพื่อเด็กน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดเด็ก, สนามเด็กเล่น, ทัวร์เด็ก, กิจกรรมเพื่อเด็ก ฯลฯ ความรู้ในการจัดก็น้อย รัฐและสังคมมีหน้าที่ต้องช่วยกันจัดให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมามากๆ หน้าที่ของนายกฯ ในวันเด็ก นอกจากพาเด็กไปนั่งเก้าอี้นายกแล้ว ก็ควรแถลงในวันเด็กด้วยว่า ที่ผ่านมาหนึ่งปีนั้น รัฐบาลได้สร้างอะไรให้เด็กบ้าง นายกฯ อปท. ก็ต้องทำอย่างเดียวกัน

"ผู้ใหญ่ในวันนี้ ทำร้ายเด็กได้ทั้งในวันนี้และวันหน้า" ผมขอเสนอคำขวัญวันเด็กของผมบ้าง