![]() |
ภาพประกอบจาก http://learners.in.th/file/putaiwan/list |
...ครูที่เป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนตามอัตราข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป ...มีสวัสดิการของการเป็นข้าราชการตามกฎหมาย ...แต่ครูกลับมีข่าวว่ามีปัญหาหนี้สินมาก หรือเป็นเพราะมีข้าราชการครูจำนวนมาก หรือ ครูใช้จ่ายมากเกินรายได้ หรือ ครูได้เฉพาะเงินเดือนไม่มีรายได้พิเศษจากการทำงานเป็นครูเหมือนข้าราชการอื่นๆ หรือ คำตอบทั้งหมดถูกต้อง...แล้วครูควรมีบัญชีเงินเดือนโดยเฉพาะหรือไม่...
อาชีพครูในสังคมไทย
"ครู" เป็นอาชีพหนึ่งในสังคมไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "พ่อพิมพ์/แม่พิมพ์ของชาติ" "พ่อ/แม่คนที่สอง" "ผู้ให้อนาคต" และให้เป็น "เรือจ้าง" ด้วยเช่นกัน การยกย่องให้เป็น "คุณครู" ในสังคมไทยเป็นความภูมิใจของคนเป็นครู แต่ศักดิ์ศรีและความภูมิใจของความเป็นครูลดลงและตกต่ำมาเป็นลำดับตั้งแต่วิทยาลัยครูเริ่มเปิดรับนักศึกษาครูภาคค่ำและเร่งรัดผลิตครูออกมาจำนวนมากเมื่อประมาณเกือบ 40 ปี เป็นต้นมาโดยทำการผลิตทั้งกลางวัน กลางคืน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ คนที่ไม่รู้จะเรียนอะไรดีก็จะไปเรียนครูเพราะมีโอกาสได้เรียนและได้งานมากกว่า จึงได้คนส่วนหนึ่งที่ไม่เก่ง รสนิยมไม่ดี ไม่รักอาชีพครูแต่ต้องมาเป็นครู คนรุ่นใหม่เลยไม่ต้องการเป็นครูเพราะครูมีแต่ภาพของความยากจน ท่าทางเชยๆ ไม่ทันสมัย รสนิยมไม่ดี ทำงานหนัก อยูในที่ห่างไกลความเจริญ ภาพของ "ครูบ้านนอก" จึงเป็นตัวแทนของความเป็นครูที่ไม่มีอำนาจบารมี หรือพระเดช มีแต่พระคุณบ้างเล็กๆ น้อย กับเด็กเล็กๆ และในอดีตที่ผ่านครูก็เป็นฐานอำนาจทางการเมือง ถูกจับเปลี่ยนสถานภาพและสังกัดหลายครั้งหลายหนมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่หลุดพ้นจากการเป็นฐานอำนาจของการเมือง
"ครู" ที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึง "ข้าราชการครู" ที่ทำการสอนในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาครูโดยการจัดองค์กรการบริหารใหม่ มีการกระจายอำนาจ เพิ่มวิทยฐานะ เพิ่มคุณวุฒิ ซึ่งผลที่ได้คือ มีครูและบุคลากรการศึกษาที่มีตำแหน่งราชการสูงขึ้น หรือ ซี สูงขึ้น การมีรายได้เพิ่มขึ้นจากคุณวุฒิที่สูงขึ้น กำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น (เช่น โรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 100 คน มีครูไม่ถึง 10 คน แต่มีผู้อำนวยการระดับ 9) หรือ การที่ครูมีวิทยฐานะที่สูงขึ้นนั้น นักบริหารการศึกษาเมืองไทยคิดว่าเป็นหนทางของการยกฐานะวิชาชีพครู ให้ครูมีรายได้เหมาะสมกับการเป็นครู มีชีวิตความเป็นอยู่สมฐานะของครูที่ลูกศิษย์จะให้ความเคารพนับถือหรือยกมือไหว้ด้วยความสนิทใจ และนอกจากนั้นยังมีแนวความคิดแยกเงินเดือนครูออกจากเงินเดือนข้าราชการอื่นๆ เหมือนกับข้าราชการกลุ่มพิเศษบางกลุ่มที่มีบัญชีหรืออัตราเงินเดือนโดยเฉพาะ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับอาชีพนั้นมากกว่าอาชีพอื่น เพราะอาจมีผลต่อการทำงานและการอยู่รอดของรัฐบาลได้ ส่วนครูเป็นอาชีพสุดท้ายที่รัฐบาลจะให้ความสนใจ เพราะมีจำนวนมาก ต้องใช้เงินมาก และการมีครูที่ไม่มีคุณภาพหรือสกัดกั้นความเจริญของครูสักระยะหนึ่งก็ไม่เห็นผลอะไรอย่างทันที เพราะผลนั้นจะเกิดขึ้นระยะยาว...ยาวมากจนคนที่กำหนดนโยบายนั้นอาจไม่มีชีวิตรอดูผลด้วยซ้ำ
ตัวอย่างปัญหา(เบาๆ) จากผลของนโยบายการศึกษาในอดีต
ปัญหาแรกคือ ในอดีตมีการรับนักศึกษาครูจำนวนมากโดยรับคนที่ไม่มีคุณภาพและใจรักที่จะมาเป็นครู แต่ต้องไปเรียนวิทยาลัยครูเพราะการเปิดรับจำนวนมากทำให้เข้าเรียนได้ง่าย จบแล้วมีโอกาสได้งานมาก ผลในปัจจุบันคือ เราได้ครูที่ไม่มีคุณภาพ และไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูเข้ามาเป็นครูมากกว่าที่ควรจะเป็น จึงมีปัญหาของครูในลักษณะต่างๆ ที่บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นครู เช่นปัญหาทางเพศกับนักเรียน มีหนี้สินล้นพ้นตัว เบียดบังเวลาการสอน ไม่มีความแม่นยำทางวิชาการ ไม่สนใจการสอนและอบรมนักเรียนใฝ่อำนาจ นิยมการฉ้อฉลในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นและคนที่กำหนดนโยบายนี้ก็เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้วเช่นกัน ถ้าวิญญาณมีจริงได้โปรดรับรู้ผลเชิงลบเหล่านี้ด้วย
ปัญหาประการที่สอง การคลั่งชาติโดยไม่ส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ (กลัวเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง) ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ครูภาษาอังกฤษไม่ได้รับการพัฒนา เอาครูที่ไม่ได้จบทางด้านภาษาอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน กำหนดให้วิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาเลือก ผลที่ปรากฎในปัจจุบันคือ คนไทยอ่อนภาษาอังกฤษ ขนาดจบปริญญาตรียังใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ ทั้งทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน เป็นผลให้นักศึกษามหาวิทยาลัยไทยเสียโอกาสในการเรียนต่อระดับสูง หรือต้องเสียเงินมากกับการเรียนและสอบภาษาอังกฤษอีกหลายครั้ง รวมทั้งการเข้าถึงความรู้ที่ส่วนมากอยู่ในรูปภาษาอังกฤษเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ลึกซึ้ง ทำให้รู้แบบงูๆ ปลาๆ หลังจากจบการศึกษาและมีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบสูงเลยทำอะไรจึงผิดพลาดอยู่เสมอ...ประเทศไทยและคนไทยต้องรับเคราะห์กรรมหลายอย่างจากความรู้อย่างไม่ลึกซึ้ง...
ขณะที่ประเทศมาเลเซียไม่กลัวจะเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง (เพราะเขาเป็นมาแล้ว) เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซียส่งครูภาษาอังกฤษไปเรียนต่อต่างประเทศทั้งหมด แล้วกลับมาสอนนักเรียนมาเลเซีย ในปัจจุบันคนมาเลเซียพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนไทย ผลคือการติดต่อค้าขาย การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดประชุมฝึกอบรมต่างๆ ที่ความรู้อยู่ในรูปของภาษาอังกฤษจึงถูกถ่ายทอดไปมาเลเซียและพัฒนาประเทศเขาจากครั้งหนึ่งที่เคยล้าหลังประเทศไทยมาก กลับมาทัดเทียมกับไทยหรือบางอย่างก้าวหน้ากว่าไทยเสียอีก
การเพิ่มรายได้ให้ครู
การทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ กำหนดให้มีระยะเวลาของการเรียนยาวนานขึ้น มีการฝึกปฏิบัติในการเป็นครูก่อนที่จะจบการศึกษา มีการคัดเลือกและให้ทุนการศึกษาและประกันการมีงานทำให้กับผู้จบการศึกษาวิชาชีพครูและเมื่อบรรจุเข้ารับราชการก็มีอัตราเงินเดือนสูงกว่าผู้จบการศึกษาในสาขาวิชาอื่น เป็นการยกระดับของอาชีพครูให้ดูมีฐานะดีขึ้น เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกฐานะครู และใช้กระบวนการศึกษาฝึกอบรมที่นานกว่า และกระบวนการคัดเลือกคนที่จะมาเป็นครูที่อย่างเข้มข้น เป็นที่รู้ว่าเป็นโครงการสร้างครูพันธุ์ใหม่ในรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ที่ผู้จะเป็นครูต้องเรียน 5 ปีในมหาวิทยาลัย ได้รับทุนขณะเรียนด้วย และเมื่อจบการศึกษาได้บรรจุเกือบทุกคนเป็นตำแหน่ง "ครูผู้ช่วย" (จะครองตำแหน่งนี้อยู่ประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นจะก้าวหน้าไปตามสายวิชาชีพ) รับเงินเดือนๆ ละ 8,700 บาท ค่าครองชีพ อีก 1,500 บาท รวมเป็น 10,200 บาท ยังไม่หักรายการต่างๆ รายได้ขนาดนี้สำหรับการเริ่มต้นเป็นครูในสังคมไทย ถ้าอยู่ต่างจังหวัด และอยู่อย่างประหยัด ก็น่าจะเพียงพอ เพราะมีสวัดิการของการเป็นข้าราชการในการรักษาพยาบาลและสิทธิต่างๆ พอสมควรกับอนาคตที่เป็นงานมั่นคงและมีบำเหน็จบำนาญ
นอกจากนี้ยังมีเงินค่าตอบแทนของการทำผลงานทางวิชาการของครู/อาจารย์ เทียบเคียงกับระดับข้าราชการ เช่นระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 เป็นต้น ซึ่งมีระเบียบรองรับการจ่ายเงินตอบแทนให้ ถ้าครู/อาจารย์เหล่านั้นขยันที่จะทำผลงาน (ปัจจุบันนี้การกำหนดตำแหน่งและชื่อตำแหน่งของครูได้เปลี่ยนไปตามกฎหมายใหม่รวมทั้งการยกเลิกระบบ ซี แล้ว) ความหวังให้ครูพัฒนาวิชาชีพตนเองให้มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ อบรมบ่มนิสัยให้กับนักเรียนเป็นคนเก่งและเป็นพลเมืองดีของชาติ ด้วยการให้เงินค่าตอบแทนการทำผลงานทางวิชาการนี้ ทำให้ครูจำนวนหนึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ ถึงแม้จะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมามาก เช่น ครูเลยหันไปทำผลงานวิชาการไม่สนใจที่จะสอนนักเรียน ทำให้จุดประสงค์ของการพัฒนาครูเพื่อจะให้ส่งผลกับนักเรียนนั้นไม่บรรลุผล
ครูจำนวนหนึ่งไม่มีความถนัดในการทำผลงานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ต้องการมีตำหน่ง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จึงยอมลงทุนทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ เพราะจะทำให้ได้ทั้งตำแหน่งทางราชการที่สูงขึ้นหรือ ซี สูงขึ้น และเงินเพิ่มขึ้นด้วย ผลกระทบทางลบเช่นนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง สร้างความเสื่อมเสียมาให้กับวิชาชีพครู และความเป็นครูอีกด้วย
การหารายได้ของครูกับศักดิ์ศรีของความเป็นครู
เมื่อครูจำนวนหนึ่งไม่สามารถอยู่ได้อย่างสมฐานะด้วยเงินเดือนของข้าราชการครู ที่ต้องรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นครูและความเป็นข้าราชการ ประกอบกับลักษณะอาชีพไม่เปิดโอกาสให้มีรายได้พิเศษเหมือนข้าราชการของกระทรวง กรม อื่นๆ ในจังหวัดเดียวกัน การเปรียบเทียบฐานะของข้าราชการต่างกรม ต่างกระทรวง ในจังหวัดเดียวกันเกิดขึ้นอยู่ในใจของข้าราชการครูเสมอ และครูจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในอาชีพของตน ขาดความภูมิใจ สาเหตุหนึ่งคือ ครูรู้ว่ารายได้ของอาชีพครูน้อยกว่าข้าราชการอาชีพอื่นทั้งๆ ที่ทำงานหนัก และรับผิดชอบสูง รวมทั้งครูบางคนมีระดับการศึกษาสูงกว่าด้วย สิ่งที่ยังคงทำให้ครูอดทนสู้อยู่ได้คือ "ความเป็นข้าราชการ" ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ได้รับการรับรองตามกฎหมาย...ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้จะได้รับการปฏิบัติจากข้าราชการต่างสังกัดด้วยกัน หรือจากสังคม ไม่เท่าเทียมกับข้าราชการของกระทรวง กรม อื่นก็ตาม...
ครูอีกพวกหนึ่งที่ไม่เป็นข้าราชการ เป็นอัตราจ้าง รัฐบาลไม่บรรจุให้ด้วยนโยบายของรัฐ เช่น ต้องการลดจำนวนข้าราชการ โดยใช้การจ้างครูมาสอน ครูกลุ่มนี้มีจำนวนมาก และมีอิทธิพลต่อการศึกษาของชาติ และพลเมืองของประเทศไม่แพ้ครูที่เป็นข้าราชการ เพราะเขาก็ทำงานเหมือนกับข้าราชการและส่วนมากถูกครูที่เป็นข้าราชการเอาเปรียบ แต่ต้องทนทำงานเพราะหวังว่าวันหนึ่งคงได้บรรจุเป็นข้าราชการ บางคนทนรอไม่ได้ก็ต้องออกไปทำอาชีพอื่น ครูอัตราจ้างเหล่านี้ไม่มีขวัญและกำลังใจ ไร้ศักดิ์ศรี ทำให้ขาดความเชื่อมั่น ไม่องอาจสมกับกับเป็นแม่พิมพ์ให้กับนักเรียน หรือไม่สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างให้นักเรียนได้นักเรียนก็ไม่ให้ความเคารพนับถือยำเกรงเท่ากับครูที่เป็นข้าราชการ สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่นักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนั้นครูเหล่านี้ ยังไม่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ผ่านไป การใช้แนวทางการบริหารแบบนี้กับคนเป็นครู กับวิชาชีพครู เป็นการทำร้ายอาชีพครู ทำร้ายนักเรียน ทำร้ายพลเมืองในอนาตของประเทศ เป็นการเอาเปรียบครูอัตราจ้างอย่างมาก
การหารายได้พิเศษของครูจึงเป็นความจำเป็นต้องทำอาชีพเสริมต่างๆ รวมทั้งการสอนพิเศษ การเปิดติวข้อสอบ บางครั้งการหารายได้เสริมของครูหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม จรรยาบรรณของวิชาชีพครูอย่างมาก การกระทำเหล่านี้ล้วนบั่นทอนศักดิ์ศรีอาชีพครูและเกียรติภูมิของครูให้ตกต่ำลงไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ...แต่..ดูเหมือนว่าครูจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นครูน้อยกว่าการมีเงินที่เพียงพอกับการใช้จ่ายในสังคมบริโภคนิยมในปัจจุบัน...
แล้วครูในประเทศอื่นๆ ทั้วโลกเขามีสถานภาพและรายได้อย่างไร....โปรดติดตามต่อไป...