การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยจนนำไปสู่การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม และการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กำลังเป็นประเด็นทางสังคม-สาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลวิถีทางเพศต่อไปนี้ กำลังสะท้อนให้เราเห็นประเด็นที่น่าสนใจ
ประการแรกคือ โอกาสการมีเพศสัมพันธ์ ข้อมูลจากโครงการChild Watch เมื่อต้นปีนี้ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์คือร้อยละ 64.6 มาจากความรักและร้อยละ 46.4 มาจากความใกล้ชิด
ร้อยละ 89.8 ของการมีเพศสัมพันธ์ มีกับแฟนที่ (เขาหรือเธอ) รัก
เรื่องมนุษย์กับความรักมันน่าจะห้ามกันยาก ที่สำคัญคือเรื่องรักกันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กและเยาวชน แต่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย ดังนั้น หากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่าข่าว
เรื่องเพศตามหน้าหนังสือพิมพ์จึงไม่ได้เกิดขึ้นกับเยาวชนเท่านั้น
แต่พอเกิดเรื่อง ทำไมเยาวชนมักโดนวิจารณ์หนักกว่าผู้ใหญ่!!!
ที่น่าสนใจคือ การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับการแต่งงานเป็นคนละเรื่องกัน ข้อมูลจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
(UNFPA) เมื่อปี 2551 พบว่า ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุ 17.1 ปี แต่แต่งงานอายุ 26 ปี ขณะที่ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุ 18.2 ปี แต่แต่งงาน 23.5 ปี
คำถามก็คือ กว่าจะถึงวันแต่งงาน ใช่ทุกคนไหมที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่ละคนมีเพศสัมพันธ์มาแล้วกี่ครั้ง กับกี่คน และเป็นเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร
ประการที่สอง คือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ข้อมูลจากเอแบคโพลล์เมื่อต้นปี 2553 พบว่าเยาวชนไทยร้อยละ65 ไม่รู้วิธีการคุมกำเนิด และร้อยละ 64 ไม่รู้วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยที่มีเพียงร้อยละ 21.1 ที่ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ร้อยละ 58.8 ใช้บางครั้ง และร้อยละ 20.1 ไม่เคยใช้เลย
ขณะที่ภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์ วัยรุ่นชายร้อยละ 94.6 และวัยรุ่นหญิงร้อยละ96.9 เชื่อว่าตัวเองจะไม่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Child Watch, กุมภาพันธ์2553)
นั่นหมายความว่า วัยรุ่นของเรากำลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย แต่พวกเขาอาจกำลังคิดว่าเรื่องการท้อง การติดเชื้อ ฯลฯเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับ"คนอื่น" แต่ไม่ใช่ "ตัวเอง"
ซึ่งการคิดเช่นนี้จะนำไปสู่การไม่เตรียมการเรื่องความปลอดภัย และอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และติดเชื้อได้นั่นเอง
ประการที่สามผลกระทบจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาเมื่อปี 2551 และปี2552 พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ8.6 เป็นวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี และนักเรียนมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.53 ในปี2546 เป็นร้อยละ 11.88 ในปี 2551 ขณะที่กลุ่มอื่นๆ มีแนวโน้มการติดเชื้อลดลง
ส่วนเรื่องการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม สวนดุสิตโพลรายงานว่า พบคุณแม่วัยใสอายุน้อยกว่า 20 ปีที่คลอดลูกจากปี 2542 ที่มีร้อยละ 12.5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.7 ในปี2549 และสูงกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 10
ส่วนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(UNICEF) รายงานเมื่อปี 2546 ว่าค่าเฉลี่ยวัยรุ่นไทยอายุ 15-19 ปี คลอดลูก 70 รายต่อ 1,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 90 รายต่อ 1,000 คน หรือวันละเกือบ 200 รายในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วทวีปเอเชียอยู่ที่ 56 รายต่อ 1,000 คน ค่าเฉลี่ยทั่วโลก คือ 65 รายต่อ 1,000 คน
ข้อมูลสถานการณ์ทางเพศข้างต้น น่าจะเป็นโอกาสที่คนในสังคมควรจะถกเถียงกันว่า เราจะทำอย่างไรกับประเด็นแบบนี้
กล่าวคือ เราจะ "ปิดหูปิดตา" เยาวชนและคนในสังคมให้ขาดข้อมูลเรื่องเพศ วิถีทางเพศ เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การป้องกันแบบที่ทำๆ กันมาตลอด เพราะเกรงว่า หากบอกไปจะเป็นการ"ชี้โพรงให้กระรอก" และหรือขัดต่อ"วัฒนธรรมอันดี" แต่พอถึงเวลาที่มีใคร"พลาด" ก็จะกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด โดยไม่ได้คิดทำอะไรใหม่ๆ จากนั้นก็พากันลืม เพื่อรอให้ใครสักคน "พลาด" เป็นรายถัดไป
หรืออีกทางเลือกหนึ่ง เราอาจจะต้องมีสมมติฐานใหม่ว่า คนจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตนเองเสมอ หากเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้าน เช่น
-มีคนที่ไว้ใจได้ เช่น ผู้ใหญ่ใจดี ครู ผู้ปกครอง ฯลฯ ชวนคิดชวนคุย ให้มองเห็นทั้งผลดี-ผลเสียของการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อซ้ำไปซ้ำมาถึงความเลวร้ายของเซ็กซ์ ซึ่งมนุษย์ทั่วไปคงจะสับสนว่าใครๆ ก็บอกว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องเลว แต่ไฉนพอไปเผชิญมากลับพบว่ากลายเป็นความวาบหวามรัญจวนใจอย่างที่ไม่เคยรู้สึกดีแบบนี้มาก่อน
-สามารถประเมินโอกาสการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้วิเคราะห์ได้ว่าสถานการณ์แบบใดที่อาจจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไปถึงสถานการณ์แบบนั้นๆ คิดจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ เพราะอะไร และจะจัดการอย่างไร
-สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางเลือก และทักษะต่างๆ ที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัยนับตั้งแต่การไม่มีเพศสัมพันธ์ การปฏิเสธคู่ ตลอดจนการ (ชวนคู่ให้) ใช้อุปกรณ์การคุมกำเนิดชนิดต่างๆ และการมองหาความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา
-การได้รับการส่งเสริมให้รับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ ของตัวเอง จนกระทั่ง "พึ่งตัวเอง" ในเรื่องเพศได้
กระบวนการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า เพศศึกษารอบด้าน (Comprehensive Sexual Education) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมwww.teenpath.net) ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมอย่างยิ่งจากทุกภาคส่วนในสังคมในการพัฒนาและท้าทายนวัตกรรมอันนี้
ในทางตรงกันข้าม ใช่หรือไม่ว่า หากเรายังสื่อสารเรื่องเพศแบบ "ปิดหูปิดตา" แบบเดิมๆ กันต่อไป ย่อมเท่ากับการพอกพูนปัญหาเดิมๆ ให้มากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อสำคัญประการหนึ่งของเพศศึกษารอบด้านคือ มนุษย์แต่ละคนล้วนเป็นปัจเจกที่มีบริบทและเงื่อนไขชีวิตเป็นของตัวเอง การตัดสินใจของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน
หน้าที่ของเราคือเคารพการตัดสินใจของเขา เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา และเราอาจจะคอยสนับสนุนในด้านต่างๆ หากเขาร้องขอความช่วยเหลือ
เพราะไม่มีใครรู้จัก เลือก และรับผิดชอบชีวิตได้ดีเท่ากับเจ้าของชีวิตเอง