Loading ...


          ไม่มีสิ่งไหนมีพลังยิ่งใหญ่เท่ากับ “จารีตของสังคม” ตั้งแต่มนุษย์เกิดมาก็ถูกกรอบอันนี้ตีเอาไว้รอบตัว หนังเรื่อง “The Cider House Rules” (ภาพยนตร์อเมริกันปี ๑๙๙๙) หรือชื่อภาษาไทยว่า “ผิดหรือถูก ใครคือคนกำหนด” ตั้งคำถามในเรื่องของจารีตหรือกฎเกณฑ์ของสังคมได้ดีทีเดียว ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่ทั้งสร้างสรรค์และทำลาย

          ในแง่หนึ่งก็คือ เป็นเสมือนกฎเกณฑ์ที่ให้คนในสังคมใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ซึ่งถ้าไม่มีกรอบอันนี้อยู่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสังคมจะวุ่นวายมากขนาดไหน

          แต่มองในอีกด้านหนึ่ง กฎเหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์หรือกับทุกคนในสังคม แต่ใครก็ตามที่ออกนอกกรอบนี้ มักจะถูกสังคมลงโทษทันทีอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

          หนังเรื่องนี้นำเสนอประเด็นใหญ่ของสังคมคือเรื่องของการทำแท้ง ทุกวันนี้การทำแท้งมักจะถูกนำเสนอในแง่ของความโหดร้าย ความใจร้ายของคนที่ทำแท้ง บาปกรรม และก็แทบเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในทุกสังคมทุกศาสนาที่ว่า การทำแท้งเปรียบเหมือนการทำลายชีวิตหนึ่งชีวิต

          จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.วิลเบอร์ ลาร์ช โดยพระเอกของเรื่องคือ โฮเมอร์ เวลล์เติบโตขึ้นในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ เขาเป็นเด็กฉลาด แม้จะไม่มีโอกาสเรียนหนังสือแต่ได้เรียนรู้งานจาก ดร.ลาร์ชตั้งแต่เด็ก ทำให้โฮเมอร์มีความสามารถเท่าเทียมกับหมอคนหนึ่งเลยทีเดียว       

          จุดสำคัญของเรื่องคือ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้รับทำแท้งให้แก่ผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร ซึ่งเป็นสิ่งที่โฮเมอร์ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นบาป และคนดูหลายคนอาจจะเกิดความรู้สึกแปลกๆ ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้ากับคลินิกทำแท้งอยู่ในที่เดียวกัน

          แต่ถ้าเมื่อคิดดูดีๆ แล้วสองอย่างนี้ก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่ลึกๆ

          เมื่อโฮเมอร์โตเป็นหนุ่ม เขาตัดสินใจออกเดินทางไปกับนายทหารซึ่งพาแฟนสาวมาทำแท้งที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ เขาไปทำงานในไร่แอปเปิลของผู้ชายคนนั้น และพักอาศัยอยู่ในบ้านพักคนงาน

          กฎหรือ Rules ตามชื่อของหนังเรื่องนี้คือ กฎระเบียบที่ติดอยู่ในบ้านพักคนงานซึ่งไม่มีใครสนใจ เพราะไม่มีใครอ่านหนังสือออก จนเมื่อโฮเมอร์เข้ามาและอ่านให้ฟัง พวกคนงานจึงรู้ว่ากฎเหล่านั้นไม่รู้จะตั้งขึ้นมาทำไม ตั้งไปก็ไม่มีใครทำตาม อีกทั้งกฎบางข้อยังไร้สาระ ไม่สมเหตุสมผล เช่น ห้ามขึ้นไปนั่งเล่นบนหลังคา ฯลฯ

          “The Cider House Rules” เป็นตัวแทนของกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ใครก็ตามที่กำหนดมันขึ้นมาไม่รู้สถานการณ์หรือสภาพที่แท้จริงของผู้ที่อยู่ใต้กฎข้อบังคับนั้น หรืออาจจะพูดได้ว่าคนตั้งกฎเองก็ยังทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

          “กฎเกณฑ์”ที่สะท้อนไว้ในหนังเรื่องนี้อาจจะตีความไปได้ในหลายบริบท แต่จะขอเปรียบเทียบในเรื่องของเซ็กส์และวัยรุ่น ซึ่งในสังคมไทยเรามักถูกสอนมาไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ “ก่อนวัยอันควร” ผู้หญิงควรรักนวลสงวนตัว หรือเราควรเก็บความบริสุทธิ์ไว้ให้คนที่เราจะแต่งงานด้วย ซึ่งเป็นคำสอนที่เหมือนจะดูดี แต่เอาเข้าจริงแล้ว “ทำไม่ได้”

          แม้แต่ตัวผู้ใหญ่คนที่สอนเด็กเองก็เถอะจะมีใครสักกี่คนที่ทำได้

          ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว แน่นอนว่าในช่วงวันวาเลนไทน์ การรณรงค์ก็คงจะหนีไม่พ้น “ให้รักนวลสงวนตัว”หรือ “ห้ามมีเพศสัมพันธ์”ไม่พ้นการห้ามโน่น ห้ามนี่ ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ผล แต่ก็ยังห้ามกันทุกปี

          ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง การห้ามให้เด็กไม่มีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นวิธีการล้าสมัยแถมยังใช้ไม่ได้จริง และในเมื่อยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ทำไมเราไม่เปลี่ยนเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็กเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ มีอย่างไรให้ปลอดภัย เช่น เพศศึกษาในโรงเรียนซึ่งควรจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่บางคนเป็นห่วงในเรื่องความเหมาะสม กลัวว่าจะเป็นการชี้นำเด็ก

          สังคมไทยปลูกฝังเด็กว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องไม่ดี โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นเหมือนเรื่องต้องห้าม แนวคิดนี้ดูจะขัดแย้งกับความเป็นจริงในสังคม ผมไม่ได้พูดว่าแนวคิดนี้ไม่ดี ซึ่งถ้าแนวคิดนี้ทำได้จริงๆ ผมก็ขอสนับสนุนด้วย แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีเด็กวัยรุ่นท้องและทำแท้งอยู่ทุกวันนั้นก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าวัยรุ่นกับเซ็กส์มักหนีกันไม่พ้น

          สิ่งที่ตามมาก็คือ เด็กๆ ไม่มีความรู้ที่เพียงพอในเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เมื่อเกิดอะไรขึ้นมาก็แก้ปัญหาไม่ทันเสียแล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการปิดกั้นไม่ให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศนั้น นอกจากจะไม่ช่วยหยุดการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังทำให้เด็กไม่มีความรู้ในการป้องกันหรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง

          ถ้าคิดดูดีๆ สถานการณ์ในปัจจุบันที่มีวัยรุ่นตั้งท้องและทำแท้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจาก “กฎเกณฑ์”อันสวยหรูของสังคมไทยนั่นเอง ที่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้เด็กไม่มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้

          การที่จะนำกฎเกณฑ์อะไรมาใช้นั้น สิ่งที่ควรคำนึงไม่ได้มีแค่ความถูกต้อง ความเหมาะสม ศีลธรรม จริยธรรมเท่านั้น แต่สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างที่จะนำมาตัดสินใจคือ กฎเหล่านั้นใช้ได้จริงในสังคมหรือไม่ เพราะว่าเรื่องความถูกต้อง แต่ละคนอาจจะตีความไปได้คนละแบบ สิ่งที่เราอาจจะคิดว่าดี แต่สำหรับคนอื่นอาจจะมองว่าไม่ดี และในขณะเดียวกันสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามันมีเหตุผลอันสมควรก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ได้

          อย่างที่ชื่อหนังบอกไว้นั่นแหละครับ ผิดหรือถูก ใครเป็นคนกำหนด?



ความคิดเห็นที่  5

คนรุ่นก่อน ...สร้างและปฏิบัติตามจารีต   ปัจจุบัน..ทุกคนยังคงรู้จักจารีตฯแต่ไม่ปฏิบัติตาม   ...บังคับตนเองไม่ได้

เชี่ยว   (30 กันยายน 2554  เวลา 14:15:14)

ความคิดเห็นที่  4

     คนทำแท้ง  ก็คือคนที่ยอมรับกฏเกณฑ์น่ะแหละ   เพราะเขาทนไม่ได้ที่สังคมจะประนาม  ทนไม่ได้ที่จะเป็นผู้ทำลายความหวังขอพ่อแม่    แต่เขาทนได้ที่จะเก็บความขมขื่นไว้ลำพัง   ยอมฆ่าคนที่ได้ชื่อว่าเป็นลูก  เพียงเพราะจะทำตามกฏเกณฑ์ว่าเป็นลูกที่ดี  ผู้หญิงที่ดี  แต่เขาไม่ได้ถูกสอนให้เป็นพ่อแม่ที่ดี   ผู้หญิงต้องไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศเมื่อยังไม่พร้อม   เขาพยายามจะทำ  แต่เขาทำไม่ได้   เขาจึงรู้สึกผิด  และยังอยากให้สังคม  ยอมรับเขาว่าเขาปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของสังคม    เพราะการทำแท้งคือการแอบทำ  มิใช่ทำโดยเปิดเผย   อีกทั้งเสี่ยงอันตราย  ถ้าเราทำลายกฏเกณฑ์ของสังคม     ยอมรับนับถือคนที่มีสัมพันธ์ก่อนวัยอันอันควร   มีลูกก่อนวัยอันควร   ถึงอย่างไรก็ต้องมีเด้กกำพร้าอยู่ดี  เพราะพ่อแม่เลิกกัน  มีคนใหม่ไปเรื่อย ๆ   เพราะเขาต้องการแต่เซ็ก  แต่ขาดความรับผิดชอบ  แม้เขาจะมีความรักอยู่บ้างก็ตาม    และแม้ว่าเขาจะมีความรับผิดชอบ  ก้ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับผิดชอบได้   วัยรุ่นทำแท้ง  เพราะไม่รุ้เรื่องเพศศึกษา  จริงหรือ   ผู้ใหญ่หลายคนแม้จะมีครอบครัวมั่นคงแล้ว  หลายคนก็ไปทำแท้ง  ทั้งที่มีความรู้เพศศึกษาอย่างดี  ผ่านการมีบุตรมาแล้วด้วย  อะไรกันแน่คือสาเหตุที่แท้จริง  ว้าว....  คิดดูดี ๆ  นะพวกเรา.....

นัส   (27 มิถุนายน 2554  เวลา 22:28:28)

ความคิดเห็นที่  2

ยังไม่ได้ดูค่ะ  แต่ก็มีความคิดว่าน่าจะมีการกำหนดให้มีการสอนเพศศึกษาในโรงรียนอย่างจริงจัง   สงสารเด็ก และเยาวชนสมัยนี้มากๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อ  แม่  เห็นวัยรุ่นหลายคนมีลูกสุดท้ายเลิกกัน  ปล่อยให้ผู้ปกครองเลี้ยงดู  คนที่น่าสงสารคือเด็กที่เขาไม่ได้มารับรู้เรื่องอะไรด้วยเลย  
เปิดใจยอมรับเถอะค่ะ   การสอนเพศศึกษาที่รอบด้าน  ถือเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเด็กจากโรคและโลกในปัจจุบันนะคะ

นงเยาว์   เพชรประภาศรี   (18 เมษายน 2554  เวลา 12:42:21)

ความคิดเห็นที่  1

ดูหนังเรื่องนี้แล้ว มีหลายฉากที่ประทับใจ และหลายฉากที่สะทือนใจ โดยเฉพาะฉากที่เด็กกำพร้าทั้งหลายที่สถานสงเคราะห์ดูแลอยู่ พยายามทำตัวให้น่ารักมากที่สุดเพื่อทำให้คนที่มาเลือกเพื่อจะรับไปเป็นบุตรบุญธรรม เลือกตนเอง
สะเทือนใจมาก นี่หรือคุณธรรมที่รักษาเด็กไว้ เมื่อคลอดออกมาก็กลายเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งอีกยาวนาน

บุษกร พลดิสัย   (16 มีนาคม 2554  เวลา 15:54:22)