Loading ...
ในเวลาที่คนหลายกลุ่มในสังคมไทยเรียกร้องประชาธิปไตยและเชิดชูสิทธิเสรีภาพทางการเมือง จนถึงกับยอมแลกได้ด้วยชีวิต ก็มีเสียงสนับสนุนการเซ็นเซ่อร์หรือแบนสื่อประเภทต่าง ๆ เช่นภาพยนต์หรือละครไปด้วยพร้อมกัน
 
เสียงเรียกร้องให้รัฐแบนหรือจำกัดการนำเสนอสื่อ (แม้ในเวลาที่มีระบบการจัดเรทติ้งประเภทและระดับอายุของสื่อแล้วก็ตาม) เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องไม่เปลี่ยนไม่ว่าประชาธิปไตยจะเปลี่ยนรูปปรับร่างไปอย่างไรก็ตาม คนหลายกลุ่มไม่ลังเลที่จะเรียกร้องให้รัฐจัดการกับละครทีวีที่ล้ำเส้นเรื่องเพศที่เหมาะสมอย่าง “ดอกส้มสีทอง” และวางเฉยกับการแบนหนังอย่าง “Insects in the Backyard” เพราะเกรงภัยอันตรายของสื่อประเภทนี้ต่อระเบียบอันดีงามของสังคม
 
การควบคุมกำกับสื่อในลักษณะนี้อาจจะดูไม่เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกับการกำกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์สถาบันหรือวิจารณ์รัฐบาล เรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเสรีภาพในการนำเสนอเรื่องเพศผ่านสื่อกับความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง เราไม่เข้าใจว่าการเรียกร้องหรือคาดหวังให้รัฐเซ็นเซ่อร์สะท้อนฐานคิดที่ไม่เอื้อต่อระบบการเมืองและสังคมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ อย่างที่เป็นรูปแบบอุดมคติของหลายๆ คน?
 
การอภิปรายของข้าพเจ้าในการเสวนา “Insects in the Backyard: แหกกรงความคิด เพื่อสิทธิมนุษยชน” ชวนคิดถึง 3 ประเด็น – เพศในสื่อ เสรีภาพกับเพศวิถี และเสรีภาพเรื่องเพศวิถีกับเสรีภาพทางการเมือง/ประชาธิปไตย
 
เพศวิถีในสื่อ
 
เรื่องเพศในสื่อเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือไม่? หรือแท้ที่จริงเรื่องเพศถูกนำเสนอในสื่อหลากหลายประเภทหรือเป็นส่วนสำคัญของเนื้อหา/ “สาร” ของสื่อกระแสหลัก/กระแสรองอยู่แล้ว คำถามที่น่าคิดกว่าคือทำไมเราจึงชอบบางเรื่อง ไม่ชอบบางเรื่อง บางเรื่องได้รับการสนับสนุน บางเรื่องโดนแบน ทำไมเราชอบ “วนิดา” แต่ไม่ชอบ “ดอกส้มสีทอง” ฯลฯ
 
สื่อประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสื่อเพื่อความบันเทิงทั้งหลาย นำเสนอเรื่องเพศ/เพศวิถีใน 2 ลักษณะหลักๆ คือ แบบแรกเป็นการสะท้อนและผลิตซ้ำความเชื่อ ค่านิยม วิถีปฏิบัติแบบเพศวิถีกระแสหลัก ได้แก่การแบ่งคนออกเป็น 2 เพศสภาพอย่างเคร่งครัด คือเป็นเพียงผู้หญิงหรือผู้ชายอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยความรัก ความสัมพันธ์และเซ็กส์ที่ถูกต้อง/เป็นที่ “ธรรมชาติ” หรือเป็นที่ยอมรับต้องเกิดขึ้นระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้น เซ็กส์ที่เหมาะสมต้องเกิดในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียว และต้องมีความรักเป็นองค์ประกอบหลัก
 
อันที่จริงแง่มุมต่างๆ ของความรักแบบโรแมนติค/เซ็กส์/ความสัมพันธ์ “ระหว่างชายหญิงเป็นโครงเรื่องหรือ Plot หลักของนิยาย เพลง ละคร ภาพยนตร์หลายเรื่องมากมาย เราขบขัน ซาบซึ้งและร้องไห้ไปกับเรื่องราวที่สะท้อนแง่มุมคลุมเครือ อึดอัด และบีบบังคับของความรักและเซ็กส์ในสื่อประเภทต่างๆ
 
แม้จะสะท้อนและตอกย้ำรูปแบบเรื่องเพศตามกรอบกติกากระแสหลัก สื่อก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอเรื่องเพศมากเกินไป ให้คนเห็นเนื้อหนังร่างกายหรือการร่วมเพศชัดเจนแจ่มชัดหรือมากมายนักไม่ได้ เพราะอิทธิพลของการมองเรื่องเซ็กส์ในทางลบ เห็นเซ็กส์เป็นเรื่องสกปรก เกรงว่าการได้เห็นได้รู้จากสื่อมากๆ จะทำให้หมกมุ่นเกินไป การมัวเมาในเรื่องเพศจะทำให้เกิดความเสื่อมของเหตุผลหรือระเบียบของสังคม ต้องกำกับควบคุมเข้มงวดไม่ให้หลุดออกนอกกรอบของการขังเซ็กส์ไว้ในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียวเท่านั้น
 
สื่อบางประเภทนำเสนอรสนิยม วิถีปฏิบัติและชีวิตทางเพศที่ต่างไปจากกระแสหลัก ตั้งแต่ความรัก/เซ็กส์ระหว่างคนเพศสภาพเดียวกัน เซ็กส์นอกสมรสรูปแบบต่างๆ การซื้อขายบริการทางเพศ เซ็กส์กับสัตว์-ศพ-เด็ก ฯลฯ รูปแบบเหล่านี้เป็นอะไรที่หลายคนทำ/เลือกทำ ในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต แต่เราอาจไม่รู้หรือไม่เห็นเพราะเขาไม่ทำให้เห็นหรือไม่บอกให้รู้
 
สื่อที่นำเสนอรูปแบบเรื่องเพศต่างไปจากกรอบหลักถูกมองเป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหามากน้อยและโดนลงโทษหนักหนาแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเรื่องเพศที่นำเสนอออกนอกกรอบไปไกลเท่าไร ยิ่งไกลมาก ชัดมาก แรงมาก ก็จะเจออาการรับไม่ได้หนักๆ โดนอัดแรง ลงโทษแรงๆ อย่างที่ Insects in the Backyard โดน
 
คนที่มีโอกาสได้ดูหนัง Insects in the Backyard อาจจะรู้สึกคล้ายๆ กันว่า หนังเรื่องนี้ออกจะ “เยอะ” นำเสนอประเด็นเพศวิถีหลายเรื่องมาก แค่ 10 นาทีแรกของหนังก็ได้เห็นประเด็นการข้ามเพศ จินตนาการทางเพศ  (Rape Fantasy) เพศของวัยรุ่น การ “กิน” หรือการใช้อาหารเพื่อจัดการกับความเครียด/ความทุกข์ การจูบในที่สาธารณะ เซ็กส์แบบชายกับชาย การเอากันหลากหลายรูปแบบ
 
Insects in the Backyard ทำให้นึกถึง “จัน ดารา” ทั้งที่เป็นนิยายและเป็นภาพยนตร์ ในฐานะนิยาย “จัน ดารา” นำเสนอ “ความมากเกินไปของเรื่องเพศ” ที่ทำให้ “ฝ่อ” มากกว่า “หื่น คือมากล้นเหลือจนไม่กระตุ้นเร้า เมื่อเป็นภาพยนตร์ก็ทำให้เกิดการโต้เถียงกว้างขวาง โดยกรรมการเซ็นเซอร์หนังที่เป็นสุภาพสตรีท่านหนึ่งบอกว่า ดูหนังแล้วทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ในขณะที่หลายคนยืนยันว่าดูแล้วยังไงๆ ก็ไม่เร้าความอยาก ทำให้เห็นความต่างของการกระตุ้นเร้าทางเพศในแต่ละคนอยู่ไม่ใช่น้อย
 
อะไรที่ทำให้บางคนเกิดความต้องการทางเพศ อาจไม่มีผลแบบเดียวกันกับคนอื่นก็เป็นได้ เพราะรสนิยมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเห็นชายจูบชายแล้วแหวะ บางคนเห็นแล้วซาบซ่าน ฯลฯ
 
เหตุผลหลักๆ ของการห้าม จำกัด หรือกำจัดการนำเสนอเรื่องเพศผ่านสื่อ คือความเชื่อมสื่อเรื่องเพศกับการกระตุ้นเร้าทางเพศ และความกลัวการเลียนแบบการกระทำทางเพศที่เห็นในสื่อ
 
Sexual arousal - -> Sexual behavior – การดูหนังที่มีเรื่องเพศ/เห็นร่างกายหรืออวัยวะเพศ - -> เกิดความต้องการทางเพศ - -> ระบายความต้องการทางเพศในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม เช่น ร่วมเพศนอกสมรส ซื้อบริการทางเพศ มีความสัมพันธ์ซ้อน ฯลฯ หรือทำอะไรต่ออะไรเกี่ยวกับเพศมากเกินไป/บ่อยเกินไป
 
อีกประการหนึ่งที่มักถูกหยิบยกในการเซ็นเซอร์สื่อคือการเลียนแบบ ความกลัวว่าคนจะทำตามรูปแบบเรื่องเพศนอกกรอบที่เห็นในสื่อ
 
ความกลัวว่าการเสพสื่อที่มีเรื่องเพศจะทำให้คน “หื่น” กลัวว่าความหื่นจะเกินความสามารถในการควบคุม หลงลืมหรือมองข้ามไปว่ากรอบเรื่องเพศว่าด้วยความถูกผิด/เหมาะควรที่ใช้ศีลธรรม ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นตัวกำกับความเชื่อและค่านิยมเรื่องเพศ มีพลังในการกำกับคนอย่างมหาศาล คนไม่สามารถทำตามใจได้ในเรื่องเพศ การระบายออกหรือแสดงออกในเรื่องเพศถูกจำกัดโดยกรอบ กำกับแม้แต่ว่าอะไรบ้างเร้าความต้องการทางเพศของคน และเมื่อเกิดความต้องการจะแสดงออกในรูปใดได้บ้าง หรือต้องเก็บงำความต้องการไว้ ระบายออกโดยการกระทำทางเพศไม่ได้
 
ความไม่เชื่อมั่นในพลังของกรอบเรื่องเพศในการบังคับกำกับคน สวนทางกับมุมมองของคนทำงานวิชาการและนักเคลื่อนไหวประเด็นเพศวิถี ที่เห็นว่ากรอบเรื่องเพศช่างทรงพลังในการกุมความเชื่อของคนจนไม่ยอมฟังความรู้ความเห็นที่ต่างไป
 
เสรีภาพกับเพศวิถี
 
เราเชื่อว่าเรื่องเพศเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” แปลว่าคนเลือกและทำได้อย่างที่ต้องการ แต่จริงๆ แล้วเรื่องเพศถูกกำกับอย่างเข้มงวด แม้ในเวลาที่เราเชิดชูเสรีภาพ
 
ภาครัฐและหลายกลุ่มในประชาสังคมไม่เชื่อในความสามารถในการคิดใคร่ครวญและเลือกทางเลือกต่างๆ ของคน กลัวคนจะเลือกผิด จึงต้องคอยดูแลเหมือนผู้ใหญ่ดูแลเด็กอยู่ตลอดเวลา โดยเลือกว่าควรจะรับรู้อะไร ทำหรือไม่ทำอะไรได้บ้าง คงเพราะอย่างนี้การทะเลาะของคนไทยจึงมีลักษณะเหมือนเด็กไม่รู้จักโต เช่น วิธีคิดว่าฉันถูกเสมอ คนที่เห็นไม่เหมือนฉันผิดเสมอ หรือฉันผิดแกก็ผิดเหมือนกัน แปลว่าไม่ผิดเพราะเสมอกัน ฯลฯ ซึ่งดูไม่ต่างจากเด็กทะเลาะกันนัก
 
ความกลัวว่าคนจะทำตามทุกอย่างที่เห็นในสื่อ เช่นเห็นคนข้ามเพศก็จะข้ามบ้าง เห็นคนรักเพศเดียวกันก็จะทำตาม ฯลฯ ความกลัวนี้มองไม่เห็นความเฉพาะเจาะจงของคนในเรื่องความต้องการและรสนิยม กรอบเรื่องเพศจะกำกับวิถีปฏิบัติและค่านิยมทางเพศในรูปแบบเดียวกัน ทำให้เรื่องบางเรื่องดูน่าขยะแขยงเกินกว่าจะทำตามหรือเลียนแบบเพียงเพราะเห็นคนอื่นทำ
 
ความเฉพาะเจาะจงของคนทำให้บางคนมีรสนิยมหรือวิถีปฏิบัติต่างไปจากกรอบเรื่องเพศ หลายคนพยายามขัดขืนและลุกขึ้นสู้กับกรอบเรื่องเพศ บางคนพ่ายแพ้และสยบยอมต่อ บางคนเป็นขบถที่ต้องสู้กับการถูกกดดันและการหาที่ยืน การออกนอกกรอบเรื่องเพศจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ราคาสูงสำหรับคนเป็นขบถที่ต้องรับปะทะในหลายรูปแบบ
 
ท่ามกลางการกำกับของกรอบเรื่องเพศกระแสหลัก คนอาจมีรสนิยมและวิถีเรื่องเพศต่างกัน เห็นรูปแบบและระดับความน่าขยะแขยงของเรื่องเพศต่างกันได้ การไม่ปล่อยให้คนเลือกเองว่าอะไรน่าขยะแขยงและควรปฏิเสธ อะไรทำให้พึงพอใจในทางเพศส่วนตัวโดยไม่ละเมิดผู้อื่น ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมกำกับเรื่องเพศ โดยปฏิเสธสิทธิเสรีภาพในการเลือกทางเลือกในอาณาบริเวณที่ “ส่วนตัว” สุดๆ ของคน
 
ฐานคิดหลักของการเซ็นเซอร์สื่อไม่ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของคนแต่มองภาพใหญ่ของสังคมมากกว่า โดยอ้างว่าปล่อยให้คนทำตามใจไม่ได้เพราะอาจส่งผลให้ระเบียบของสังคมที่บอกว่าทุกคนควรดำเนินชีวิตและมีรสนิยมแบบเดียวกันจะล่มสลาย วิธีคิดแบบนี้ไม่เชื่อว่าคนควรมีเสรีภาพโดยมีข้อจำกัดว่าการใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น
 
ความไม่เชื่อมั้นในความสามารถการเลือกทางเลือกของมนุษย์ ดูจะขัดกับภาพของมนุษย์ในฐานะผู้ถือครองสิทธิ และหลักการความเชื่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ให้คุณค่าสูงสุดกับปัจเจกและการสนองความต้องการของปัจเจก ซึ่งเป็นฐานหลักของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือไม่
 
เสรีภาพเรื่องเพศวิถีกับเสรีภาพทางการเมือง– Freedom of Expression
 
ในระบบการเมืองไทย เราได้เห็นความต่อเนื่องของการจำกัดเรื่องเพศในสื่อ การเรียกร้องให้รัฐเซ็นเซอร์สื่อ และการลงโทษคนที่สั่นคลอนเพศวิถีกระแสหลัก แต่ก็ได้เห็นการโหยหาประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยไม่เห็นความขัดแย้งกันเองของสิ่งที่เรียกร้อง
 
ดูเหมือนคนหลายกลุ่มจะให้ความสำคัญกับสิทธิที่เป็นทางการ/สิทธิทางการเมือง แต่มองไม่เห็นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกในเรื่อง “ส่วนตัว” ที่ไปกันไม่ได้กับการกำกับเรื่องเพศอย่างเข้มงวด
 
หลายคนอาจจะเถียงว่าเสรีภาพในเรื่องเพศ/การเสพสื่อที่มีเนื้อหาเรื่องเพศเป็นเพียงเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับเรื่องบ้านเมืองซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ การละเมิดเสรีภาพทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรเอามาเทียบกัน ข้อถกเถียงเช่นนี้ยิ่งดูประหลาดในเวลาของการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่
 
ถ้าเรื่องเพศเป็นเรื่องเล็กแต่เราไม่เปิดให้คนได้เลือกและแสดงออกได้ เพราะกลัวจะเลือกผิดหรือสร้างปัญหา แล้วเราจะปล่อยให้คนเลือก “เรื่องใหญ่” อย่างการเลือกตัวแทนทางการเมืองหรือผู้ใช้อำนาจทางการเมืองได้หรือ? เรื่องเล็กยังทำผิดแล้วจะทำเรื่องใหญ่ๆ ถูกต้องได้อย่างไร?
 
ที่น่าคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ แล้วอะไรคือเสรีภาพทางการเมือง เราหมายถึง Freedom of Expression – เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น วิถีชีวิต ระบบความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรม และตัวตนในแง่มุมต่างๆ ของคน ใช่หรือไม่? การเรียกร้องเสรีภาพที่จะวิพากษ์ชนชั้นนำและผู้ใช้อำนาจทางการเมืองตั้งอยู่บนฐานการมองเสรีภาพแบบนี้มิใช่หรือ ถ้าใช่เสรีภาพทางการเมืองก็ไม่ใช่เพียงการแสดงออกเพื่อจะเขย่าศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงเสรีภาพในการปล่อยให้คนแสดงออกในแง่มุมต่างๆ ของชีวิต รวมทั้งการนำเสนอและแสดงออกในเรื่องเพศด้วย
 
เสรีภาพในอาณาบริเวณที่ถูกมองว่าเป็นเรืองเล็กอย่างเพศวิถี เป็นเรื่องสำคัญยิ่งและทำให้ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมีความหมายในชีวิตของผู้คนมากมาย แต่ความที่เรื่องเพศ/เพศวิถีเป็นส่วนสำคัญของแก่นแกนของโลกทางสังคมของคน เป็นส่วนหนึ่งของระบบระเบียบที่คนคุ้นเคยและเป็นเรื่อง “ใกล้ใจ” ที่สะเทือนอารมณ์ความรู้สึกและกระตุ้นความกลัวการสูญเสียผิดหวังของคนได้โดยง่าย การเปิดให้มีเสรีภาพในการเลือกและแสดงออกเรื่องเพศวิถีจึงเป็นเรื่องยากเย็น เพราะเสรีภาพในเรื่องเพศวิถีสั่นคลอนและท้าทายโลกทางสังคมของผู้คนที่คุ้นกับการอยู่กับระเบียบเรื่องเพศที่ชัดเจนเข้มงวด
 
การนำเสนอรูปแบบและค่านิยมทางเพศที่ต่างไปจากกรอบกระแสหลัก จึงเท่ากับเป็นการกระแทกเรื่องศักดิ๋สิทธิ์/ต้องห้ามที่ทำให้โลกทางสังคมดำรงอยู่อย่างที่ผู้คนรู้จัก คุ้นเคยและไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง (เพราะกลัวความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนที่จะมากับการเปลี่ยนแปลง/เปลี่ยนผ่าน)
 
เข้าใจได้ที่คนจะไม่อยากให้เปิดเสรีในการนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ของเพศวิถีผ่านสื่อ แต่คำถามที่ตามมาก็คือการไม่เปิดเช่นนี้ไปกันไม่ได้กับฐานความเชื่อสำคัญของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การเปิดๆ ปิดๆ ในเรื่องเสรีภาพเช่นนี้จะทำให้ประชาธิปไตยที่หลายคนโหยหาปรากฏเป็นจริงได้หรือ??


ความคิดเห็นที่  10

ธรรมชาติของการสอนเพศศึกษา ไม่ใช่มีแค่ที่เห็นในโลกของการศึกษา หรือโลกออนไลน์ ยังมีโลกหน้า คือชีวิตหลักความตายด้วยนะคะ ที่ต้องศึกษา
      ฝากถึงทุกท่าน...นะคะ ว่าการให้การศึกษาเด็ก ในเรื่องเพศ ...ไม่ใช่ว่าเด็กเขาจะคิดได้กันทุกคน ...บางคนคิดไม่ได้จริงๆ ไม่เข้มแข็ง ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ไม่มีทักษะที่จะเป็นผู้นำความคิดดีๆ ใส่ตนเอง  ไม่ใช่ดูถูกเด็ก...เราเข้าใจธรรมชาติของเด็กว่ามีความหลากหลายทางสติปัญญา อารมณ์ และสิ่งแวดล้อม   เด็กที่สอนตัวเองก็มี...แต่กี่เปอร์เซ็นต์ จำเป็นมากที่ผู้ใหญ่ที่ให้ความรู้รอบด้าน  รอบด้านที่ว่าไม่ใช่เรื่องเพศเฉพาะที่ก่อปัญหาให้เห็นเป็นกันอยู่ในสังคมปัจจุบัน  ใครทราบบ้างว่า...สุนัข...แมว ลา ลิง สัตว์พวกนี้เกิดมาจากอะไร
      เกิดมาจากการผิดกระทำผิดทางเพศ เห็นธรรมชาติของสัตว์พวกนี้ ก็ต้องย้อนดูว่าเมื่อเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร สุนัข แมว ไม่เคยเลือกว่าใครคือพ่อ แม่ ลูก ของมัน ถึงยามที่ผสมพันธุ์ก็ไม่สนใจอะไรเลย เพราะฉะนั้นเมื่อยามเป็นมนุษย์ ก็ไม่สนใจอะไร ถ้าคิดจะมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่สนใจว่าผิดศีลผิดธรรม ผิดลูกใคร สามีภรรยาใคร ถ้าเรามีหนังแบบนี้เยอะๆ ยิ่งจะสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ ได้แง่คิดนิดเดียว แต่ได้ตัวต้นแบบที่นำไปสู่หายนะ เพราะหลายคนจับประเด็นไม่เป็น เอาบางประเด็น เช่น สนุก มันส์ดี เข้าถึง ถึงใจ กล้า ทะเยอทะยาน
        เราผู้ใหญ่ มีความจำเป็นที่จะต้องกลั่นกรองสื่อที่ดี ที่เหมาะสม ออกสู่สาธารณชน การตีแผ่ทางข่าวแย่ๆ  หนังสือพิมพ์ก็เยอะอยู่แล้ว การสร้างหนัง สร้างละคร ควรต้องเป็นการสร้างแบบอย่างที่่ดีแก่เยาวชนให้เยาวชนมีต้นแบบดีๆ ให้กระทำตาม  ให้มากกว่าดูแบบอย่างไม่ดี  ไม่ใช่เด็กเรียนรู้และเลียนแบบไปแล้ว ค่อยมาสอน เพราะมารู้ทีหลัง หนังจบไปแล้ว แต่เขาไม่ได้ดูตอนจบ เขาก็จำไปแล้ว ว่าเรื่องนี้ทำได้ เด็กหลายคนก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ขาดคนสั่งสอน สงสารเถอะนะ จะทำหนังเรืองอะไร ตีแผ่อะไร มองไกล มองยาว ข้ามชาติกันเลยเถอะ ศึกษาให้ไกล...ถึงชีวิตโลกหน้า

ครูต้อม   (25 เมษายน 2555  เวลา 22:48:39)

ความคิดเห็นที่  9

ละครเรื่องนี้หนูว่าชมพู่  อารยา  เล่นมากเกินไป T_T

คนหวังดี   (1 พฤศจิกายน 2554  เวลา 11:32:13)

ความคิดเห็นที่  8

ละครดอกส้มสีทองเป็นละครที่สะท้อนสังคมในปัจจุบันมากๆๆๆ  แต่ถ้าเราดูอย่างผ่านๆๆก็จะดูเป็นละครไร้สาระ แต่ถ้าหันมาวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่าความเป็นตัวตนของเรยาในเรื่องชังเป็นตัวที่เราน่าจะเก็บมาปรับปรุง และหันมาดูสังคมเรา

ทามินทร์ มันโซว   (27 กรกฎาคม 2554  เวลา 23:49:40)

ความคิดเห็นที่  7

สนุกมากๆ  ๆๆๆและสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นสมัยนี้อยากมีเพศสัมพันกันจนทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยทำให้เสียอนาคตได้55555555

Kanokwan   (17 มิถุนายน 2554  เวลา 14:59:52)

ความคิดเห็นที่  6

เรื่องนี้สนุกมาก

เอ็มมี่รัชฏา   (15 มิถุนายน 2554  เวลา 11:42:43)

ความคิดเห็นที่  5

เรื่องนี้สอนคนดีมากค่ะ

สุภัทรา   (20 พฤษภาคม 2554  เวลา 16:42:33)

ความคิดเห็นที่  4

ดิฉันก็ได้ดูนะคะ  ดีมากๆๆๆนะคะขอชื่นชมผู้จัดมากเลยค่ะ  ละครเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยนะคะ  ว่าควรจะเลี้ยงดูลูกหลานของตนอย่างไร  เด็กถึงจะไม่มีปัญหาและเก็บกดความคิดเอาไว้เพื่อไปกระทำทุกอย่างที่เคียดแค้นและทะเยอทะยานในเวลาที่ตนทำได้  และทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นของตนและหรือทำให้ตนเองพ้นจากสภาพเดิมๆที่เป้นและหรือให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองโหยหามาตลอดชีวิตหรือช่วงวัยเด็กๆ  เข้าทำนองว่า  "พ่อแม่รังแกฉัน"  และ  บอกให้รู้ว่าจุดจบของคนที่คิดดีทำแล้วได้อะไร  คนที่คิดไม่ดีทำไม่ดีแล้วได้อะไร  เหมือนที่ท่าน  ว.วชิรเมธี  ท่านบอกว่า  "ดูละครให้ย้อนดูตน"  หมายความว่า  เมื่อท่านดูละครแล้วให้ท่านดูตนเองด้วยว่าตนทำแบบนั้นหรือไม่  ถ้าทำแล้วผลสุดท้ายแล้วท่านจะได้อะไรกลับคืนมาบ้าง  ท่านได้ความสุขแบบ  ชายใหญ่  คุณดี๋  คุณนายใหญ่  หรือตี๋เล็ก  หรือแม้กระทั้งคนที่ดูร้าย ๆ อย่างคุณเด่นหรือไม่  หรือท่านได้รับความเจ็บปวดแบบ  เรยา  หรือคุณนายที่ 2   ขอบอกอีกครั้งว่า "ดีมากนะคะ"  อยากให้ละครเรื่องนี้กลับมาฉายอีกครั้งหนึ่งค่ะ  และต้องขออนุญาตใช้บทละครนี้ไปใช้สอนนักเรียนด้วยนะคะ  ขอขอบคุณผู้จัดละครเรื่องนี้นะคะ  และอย่าท้อใจที่จะนำเสอนละครน้ำดีแบบนี้มาให้พวกเราได้ดูกันอีกนะคะ

ครูอ้วน   (20 พฤษภาคม 2554  เวลา 11:28:54)

ความคิดเห็นที่  3

"ดอกส้มสีทอง" จบวันนี้แล้ว  
         ตอนสุดท้ายผู้สร้างได้นำเสนอข้อคิด จากท่าน ว.วชิรเมธี  ใครไม่ได้ดูเสียดายมากครับ
ถ้าเราดูหนังดูละคร แล้วนำมาย้อนดูตัวจะได้แนวคิดที่ดี คำว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม สุภาษิตไทย
ยังใช้ได้ผล บางครั้งผู้หลักผู้ใหญ่เอาความเห็นส่วนตัวมาพูดมากเกินไป โดยไม่คิดให้รอบคอบ
ถี่ถ้วนอาจจะเสียความมั่นใจได้  
         ขอชื่นชมผู้สร้าง ที่สรุปจบได้ดีครับ

ศน.พยัพ สพป.สุพรรณบุรี เขต 1   (20 พฤษภาคม 2554  เวลา 01:45:01)

ความคิดเห็นที่  2

เห็นด้วยกับความคิดที่ 1 ของครูป๊าวนะคะ  เพราะในชีวิตจริงของคนในสังคมปัจจุบันก็เหมือน ๆ กับละครนี้แหละค่ะ  บางครั้งแรงกว่าเสียด้วยซ้ำ  เล่นเอาบ้านแตกสาแหรกขาดกันเลยในบางครอบครัว  น่าจะให้โอกาสคนทำงานได้นำเสนอสิ่งที่เป็นรื่องสะท้อนสังคมนะคะ  อย่างเช่นเรื่อง  ดอกส้มสีทองนี้นะคะ  ผู้ใหญ่น่าจะดีใจนะคะโดยเพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยแบบนี้  เขาจะได้นำเอาข้อมูลจากละครเรื่องนี้มาสอนลูกสอนหลานเขาได้ในทุกเรื่อง  และต้องสอนให้เห็นถึงจุดจบของคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้และทุกขณะที่คนที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดีว่าสิ่งที่เขาทำลงไปนั้นมันทำให้ชีวิตของเขาอยู่ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยหรือไม่  ต้องอยู่แบบไหน  ถ้าดูแล้วสอนได้มากๆๆๆ  เลยนะคะ  และดิฉันดีใจนะคะที่มีคนกล้าทำงานแบบนี้ออกมา  อีกอย่างหนึ่งละครเรื่องนี้สอนไม่ได้สอนแต่เยาวชนอย่างเดียวนะคะ  แต่เขายังสอนคนที่เป็นพ่อเป็นแม่และผู้ปกครองของเยาสวชนด้วยว่าควรจะเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างไรให้เขาเติบโตมาเป็นเยาวชนที่ดีของชาติต่อไป  ขอเอาใจช่วยกับคนทำสื่อละคร  ภาพยนต์ในแนวแบบนี้ทุก ๆ ท่านและทุก ๆ สังกัดนะคะ

ครูอ้วน   (12 พฤษภาคม 2554  เวลา 17:15:27)

ความคิดเห็นที่  1

 เด็กไทยได้รับรู้เพศวิถีแบบผลุบ ๆโผล่ ๆ เรื่องที่ควรจะได้ดูุแล้วคิดตาม คิดได้เอง หรือมีข้อคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้ตอบ ก็ถูกปิดกั้นจากผู้ใหญ่ที่คิดเอาเองและ ใจไม่กว้างพอที่จะยอมรับว่าเพศวิถีมันคือวิถีชีวิต เป็นธรรมชาติของคนธรรมดา สื่อที่มีให้ดูอย่างเปิดเผยแบบดอกส้มสีทอง ทำให้เรา(ผู้ใหญ่)มีช่องทางได้ชี้แนะถึงความเหมาะสมด้วย เด็กเขาคิดเป็นหรอกนะอย่าให้เด็กเรียนรู้เพศศึกษาจากในหลักสูตร ตำราเรียนเพียงเพื่อใช้สอบเท่านั้น อย่าปิดกั้นเขาเลย มีคนกล้าทำสื่อที่ท้าทาย ก็น่าจะกล้าให้เขานำเสนอสื่อ   ถ้าผู้ใหญ่ใจกว้าง อีกไม่นานเราคงจะได้ดู“Insects in the Backyard”กันอย่างเปิดเผย  เอาใจช่วยนะคะ

ครูป๊าว   (3 พฤษภาคม 2554  เวลา 01:20:46)