Loading ...

         
รูปจาก www.matichon.co.th

          ปรากฏการณ์นายกฯ หญิง “หลั่งน้ำตา” กับสถานการณ์น้ำท่วมดูจะเป็นที่สนใจของประชาชนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ ซึ่งมีทั้งฝั่งที่เห็นว่าการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติและเป็นสิ่งที่ผู้นำทำได้ แต่อีกฝั่งก็เห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นความอ่อนแอและเป็นสิ่งที่ผู้นำไม่ควรทำเพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้นำปราศจาก “ภาวะผู้นำ” ในสถานการณ์ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องการผู้นำที่เข้มแข็งสู้กับภาวะวิกฤติเช่นนี้

          ผู้เขียนสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่า น้ำตา ถูกผูกโยงอยู่กับ ๓เรื่องคือ ความอ่อนแอ ผู้หญิง และความเป็นผู้นำ ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ร้องไห้กรณีที่ไม่สามารถปกป้องนิคมอุตสาหกรรมไว้ได้ แต่ยักไม่มีใครพูดถึงเท่าไหร่ หรืออาจจะเป็นเพราะท่านไม่ได้เป็น “ผู้หญิง” และไม่ได้เป็น “ผู้นำ” ก็ไม่รู้

          ทีนี้เรามาดูเรื่องน้ำตากับความอ่อนแอกันก่อน แต่ไหนแต่ไร (แปลว่าไม่รู้ว่าเมื่อไหร่....ฮา) “น้ำตา” ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความเศร้า ความเสียใจ ความอ่อนแอ ดังนั้นคนที่จะเป็นผู้เข้มแข็งได้นั้นต้องไม่ร้องไห้ไม่ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ใดก็ตาม โดยที่เราลบความหมายบางอย่างของน้ำตาทิ้ง เช่น ตื้นตันใจ ดีใจ ซาบซึ้ง ซึ่งเป็นความหมายในทางบวก

          เมื่อมาดูว่าน้ำตาผูกโยงอยู่กับเพศหญิง เพราะพอบอกว่าน้ำตาเป็นเครื่องแสดงความอ่อนแอ และผู้หญิงก็ถูกทำให้เป็นที่รับรู้ว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ผู้หญิงกับน้ำตาจึงเข้ากันได้อย่างพอดีเป๊ะ!ในขณะที่ความเป็นผู้นำนั้นถูกคาดหวังจะต้องเป็นผู้เข้มแข็งเพื่อเป็นตัวอย่าง ไม่ให้ประชาชนผู้อยู่ภายใต้การปกครอง “ขวัญเสีย” กับสถานการณ์เลวร้ายที่กำลังเผชิญ พอสามเรื่องนี้ผูกเข้าด้วยกันมันก็เลยอีรุงตุงนังกันไปหมด

          ผู้เขียนไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องความอ่อนแอที่ผูกโยงกับเพศ แล้วก็มาผูกกับเรื่องความเป็นผู้นำอีกต่อหนึ่ง มันดูซับซ้อนเกินไป แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว การจะพิจารณาว่า “เธอ” หรือ “เขา” เป็นผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดีหรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าเธอหรือเขาหลั่งน้ำตากับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่หรือเปล่า แต่อยู่ที่ว่าได้ทำอะไรเพื่อประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่บ้าง ร้องไห้ไปทำไป แก้ไขไป ก็ยังดีกว่าไม่ร้องไห้แต่ไม่ทำอะไร

          กลับมาว่าเรื่อง ผู้หญิง ผู้นำ และน้ำตากันต่อ...

          โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า การที่บอกว่าผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ ร้องไห้ง่ายนั้นมันไม่ได้เป็นธรรมชาติของผู้หญิง คือเกิดมาเป็นผู้หญิงปุ๊บแล้วอัตโนมัติว่าโตขึ้นต้องอ่อนแอนะ ต้องร้องไห้นะ มันไม่ใช่ แต่ผู้หญิงถูก “หล่อหลอม” มาให้เป็น “ผู้หญิง” ด้วยการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นจะถือว่าไม่เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้หญิงไม่ดี

          เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาที่ตัวนายกฯ หญิงของเรา...เอ๊ย ของไทยก็จะพบว่า ท่านนายกเองก็ถูก “หล่อหลอม” มาเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ ในสังคมไทย ถูกบอกว่าเป็นผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย ดังนั้นจึงร้องไห้ได้ง่ายกว่า ร้องแล้วมีคนโอ๋ มีคนสงสาร ร้องเลย...เลยมีคำถามว่าแล้วจะแปลกใจอะไร ถ้าจะเห็นนายกฯ หญิงร้องไห้

          สังคมเรานี่เรียกร้องกับผู้หญิงมากเหลือเกิน เด็กๆ สอนมาแบบหนึ่ง โตขึ้นถ้าสถานภาพทางสังคมเปลี่ยนก็เรียกร้องให้เป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น ถ้าวันหนึ่งได้เป็นผู้นำขึ้นมาก็ห้ามร้องไห้นะ เพราะผู้นำเป็น “พื้นที่” ของผู้ชาย ถ้าไปอยู่ในพื้นที่ของผู้ชาย ก็ต้องทำตัวให้เหมือนผู้ชาย ไอ้ความเป็นหญิงที่เคยๆ สอนมาต้องลืมไปให้หมด

          เขียนมาจนบรรทัดสุดท้ายก็ให้นึกถึงสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ที่สอนผู้หญิงไว้หลายเรื่อง แต่คิดว่าหลายเรื่องที่ว่าอาจจะเอามาใช้กับยุคนี้ไม่ได้

          พลันนึกถึงบทกลอนใน “วิวาห์พระสมุทร” ของรัชกาลที่ ๖ ที่ขึ้นต้นว่า “เป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก” แต่ไม่เขียนที่เหลือต่อแล้วกัน ลองไปหาอ่านกันดู

          แล้วจะพบว่า บทกวีเพื่อผู้หญิงจริงๆ นั้น หาได้น้อยเหลือเกิน...หรือสังคมเราจะเป็นแบบทำอะไรเพื่อผู้หญิงน้อยแต่เรียกร้องจากผู้หญิงมาก???

                   



ความคิดเห็นที่  4

I feel satsifeid after reading that one.

Eren   (17 กรกฎาคม 2555  เวลา 14:34:18)

ความคิดเห็นที่  1

กดlikeให้หนึ่ง

ผู้หญิง   (2 ธันวาคม 2554  เวลา 09:08:05)