ตอน ยุติการตั้งครรภ์ : ตราบาปหรือแค่ศีลธรรมครอบงำ
ผู้เขียน รำไพรรณ บุญพงษ์
หากลองจินตนาการดูว่า ถ้าสักวันหนึ่งเราเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม เราจะมีวิธีจัดการอย่างไร
คำตอบอาจหนีไม่พ้นการตัดสินใจจบปัญหาด้วยการยุติการตั้งครรภ์
เราถูกหล่อหลอมมาด้วยโลกทัศน์ของความเป็นพุทธศาสนา โดยถูกสอนมาว่าการเข่นฆ่าทารกในครรภ์ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ย่อมผิดบาปและชั่วร้ายเสมอ ซึ่งแน่นอนว่าเป้าของการโจมตีคงหนีไม่พ้นหญิงเจ้าของครรภ์ พวกเธอย่อมถูกมองว่าเป็นคนชั่วช้า หากเป็นหญิงสาววัยรุ่นคงถูกตราหน้าว่าเป็น ‘เด็กใจแตก’เราสามารถมองเห็นโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมที่กำลังครอบงำหญิงสาวเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่เรามุ่งประณามการเข่นฆ่าทารกน้อย เรารู้หรือไม่ว่าเรากลับกำลังทำร้ายผู้หญิงที่กำลังจมดิ่งกับปัญหาที่ยากจะหาทางออก
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราเองก็คิดเห็นคล้อยตามสังคมแบบนั้น แต่หากได้ลองชมภาพยนตร์เรื่อง The Cider House Rules ดูสักครั้ง ก็อาจทำให้ได้ฉุกคิดถึงแง่มุมกลับของเรื่องราวการยุติการตั้งครรภ์ได้ดี
The Cider House Rulesมีชื่อภาษาไทยว่า “ผิดหรือถูกใครคือคนกำหนด” ภาพยนตร์ ดราม่าย้อนยุค จากงานเขียนของจอห์น เออร์วิง ที่การันตีคุณภาพด้วย ๒ รางวัลออสการ์จากสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมและจากสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับบ้านรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งที่ดูแลโดยหมอวิลเบอร์ ลาร์ช (ไมเคิล เคน) หมอลาร์ชเลี้ยงดูเด็กๆ ไปพร้อมกับรับยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิงที่ยังไม่พร้อมมีบุตร ทั้งยังให้คู่รักที่ต้องการมีบุตรได้รับเด็กไปอุปการะอีกด้วย
เนื้อเรื่องดำเนินให้เห็นสิ่งที่ขัดแย้งกันตลอดทั้งเรื่อง ระหว่างกฎเกณฑ์หรือศีลธรรมซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องถูกต้องกับความต้องการตามธรรมชาติที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาป ให้ได้น่าขบคิดว่าจริงๆ แล้วอะไรกันแน่คือสิ่งที่ถูกหรือผิดและใครกันแน่คือคนตัดสิน โดยเฉพาะเรื่องราวของการยุติการตั้งครรภ์ที่โฮเมอร์ เวลล์ (โทบี้ แม็คไกวร์) พระเอกของเรื่องซึ่งเป็นเด็กกำพร้าที่หมอลาร์ชดูแลมาตั้งแต่เด็กได้คัดค้านมาตลอด โดยมองว่าคนที่มีเพศสัมพันธ์ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เขาปฏิเสธที่จะเอาเด็กออกให้ผู้หญิง แม้หมอลาร์ชมองว่าเขามีความสามารถที่จะทำก็ตาม
ดังฉากหนึ่งในเรื่องที่หญิงสาวคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากพยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ซึ่งหมอลาร์ชได้ชี้ให้โฮเมอร์เห็นว่านี่คือผลจากการที่หมอไม่ยอมช่วยให้เธอเอาเด็กออกอย่างถูกวิธี ถือเป็นการสะท้อนสังคมได้ดีทีเดียว โดยโฮเมอร์เปรียบเป็นตัวแทนการมองผู้หญิงตามความคาดหวังของสังคม ทำให้หญิงสาวต้องเผชิญปัญหาอย่างหลบๆ ซ่อนๆ คอยหนีความกดดันจากสังคมและรับผิดชอบปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ในสถานบริการที่ไม่ปลอดภัย กระทั่งเป็นอันตรายต่อชีวิตในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากการไปตีตราผู้หญิงที่กำลังเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพกายและใจเช่นนี้
ทั้งนี้การท้องไม่พร้อมอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะแม่วัยรุ่นในวัยเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ใหญ่ที่มีฐานะยากจนเกินกว่าจะเลี้ยงดูลูก อาชีพการงานที่บีบบังคับให้ยังมีลูกไม่ได้ หรือแม้แต่พ่อเด็กไม่ยอมรับผิดชอบ หลายเหตุหลายปัจจัยนี้เกี่ยวข้องกับการป้องกันที่ไม่ถูกวิธีซึ่งนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราวันละประมาณหนึ่งพันราย หรือประมาณ ๓-๔ แสนรายต่อปี ซึ่งมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนปีละมากมาย
เรื่องราวของการยุติการตั้งครรภ์ในภาพยนตร์ถูกผูกโยงเข้ากับกฎประจำบ้านของคนงานเก็บแอปเปิล โดยเหล่าคนงานอ่านหนังสือไม่ออกและเฝ้าสงสัยมานานว่ากฎที่ติดอยู่บนฝาผนังนั้นหมายความว่าอะไร กระทั่งโฮเมอร์ได้อ่านให้พวกเขาฟัง กฎที่พวกเขาไม่ได้เขียนขึ้นมานั้น ได้อธิบายข้อห้ามที่ขัดแย้งกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ ได้แก่ การห้ามสูบบุหรี่บนเตียงนอน ห้ามคุมเครื่องคั้นน้ำแอปเปิลเวลาเมา และห้ามนั่งบนหลังคาไม่ว่าตอนไหนๆ หนังทำได้ดีในฉากนี้ โดยโรสหนึ่งในคนงานพูดขึ้นมาอย่างน่าสนใจว่า“..คนไม่ได้อยู่เป็นคนตั้งกฎ พวกนี้ไม่ใช่กฎ เราควรกำหนดเอง...”และ“บางครั้งเราต้องฝืนกฎบางอย่าง ทำบางสิ่งให้มันถูกต้อง” จากนั้นพระเอกก็ได้เอากฎไปเผาทิ้ง แล้วหนังก็ตัดฉากไปให้เห็นคนงานกำลังนั่งอยู่บนหลังคา
หนังเปรียบเทียบให้เห็นว่ากฎก็เหมือนวัฒนธรรมและศีลธรรมที่กำลังครอบงำประชาชนอยู่ เป็นสิ่งเตือนสติผู้หญิงว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบาปกรรม แต่กลับขัดแย้งกันกับความต้องการที่แท้จริงของผู้หญิงที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่กับการเผชิญปัญหาที่ยากจะหาทางแก้
ทั้งนี้สังคมมุ่งมองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เรากลัวว่าหากยิ่งผลักดันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ก็จะเป็นการส่งเสริมกระตุ้นคนให้มีเพศสัมพันธ์กันแบบไม่ป้องกันและมีการยุติการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น แต่คิดไหมว่าจะมีสักกี่คนที่วิ่งโร่ไปเอาเด็กออกแล้วกลับออกมาโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย อย่างน้อยนี่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยกว่าการไปหลบๆ ซ่อนๆ ทำที่คลินิกเถื่อนไม่ใช่หรือ แต่กระนั้นเลยต้นเหตุอยู่ที่ไหน ถ้าแก้ตรงนั้นได้ ก็คงจะดีกว่าไม่น้อย
ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าสังคมมักมองต้นเหตุของปัญหาผิดเพี้ยนไป โดยมองว่าต้นเหตุคือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กัน แล้วพร่ำบอกกันว่าห้ามมีเพศสัมพันธ์กันถ้ายังไม่พร้อม เราได้แต่ห้าม แต่สังคมกลับยังพูดเรื่องนี้กันไม่มากพอที่จะทำให้คนโดยเฉพาะเด็กวัยเรียนได้รับความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์และวิธีป้องกันที่ถูกต้องเพียงพอ เพราะหากวันหนึ่งเด็กต้องตกอยู่ในสถานการณ์จริง ความรู้เพศศึกษาที่ร่ำเรียนมา ก็คงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้สามารถป้องกันได้อย่างถูกวิธีอยู่ดี
สังคมมัวแต่อยู่กับข้อจำกัดที่ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม พ่อแม่ไม่กล้าบอกลูก สถาบันการศึกษาไม่กล้าสอนเพราะต่างก็กลัวว่าจะเป็นการชี้นำ ครูส่วนใหญ่จึงมักเลือกที่จะหยิบยกเอาเรื่องบาปกรรมมาสอนแทน แต่กลับไม่ได้บอกว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ตกอยู่ในสภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ท้ายที่สุดวิชาเพศศึกษาก็ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันการท้องไม่พร้อมได้ตามที่สังคมคาดหวัง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนให้เราขบคิดกันต่อว่าตกลงแล้วเราจะยอมเคารพกฎเกณฑ์ที่ไม่รู้ว่ามีใครตั้งขึ้นมานี้จริงหรือ และหากยินยอมแล้วเมื่อไหร่กันที่สังคมไทยจะก้าวข้ามเส้นแบ่งของศีลธรรม บาปบุญ แล้วออกมาเผชิญหน้ากับความจริงได้สักที