อาจารย์ประเสริฐ เริ่มสอนเพศศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์สอนสุขศึกษา วันนี้ อาจารย์ก้าวสู่งานบริหาร ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียน มีประสบการณ์การสอนเพศศึกษามานานกว่า 4ปี เป็นประสบการณ์ตรง ที่สามารถให้คำแนะนำ และให้กำลังใจ กับอาจารย์ที่สอนเพศศึกษารุ่นต่อไปของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
ปี พ.ศ. 2551 ที่อาจารย์ทุกคนจะต้องสอนให้ได้ตามตัวชี้วัดของโรงเรียน เพศศึกษาถูกมองว่าเป็น “ภาระ” เพราะสาระที่ต้องสอน ก็ยังสอนไม่ทัน แต่อาจารย์ประเสริฐกลับมองว่า ไม่จำเป็นต้องสอนตามตัวชี้วัด แต่ดูที่เป้าหมายของการเรียนก่อน และเอาเนื้อหาในวิชาเพศศึกษาเข้าไปใส่ เช่น ตัวชี้วัดความปลอดภัยในชีวิต หรือการสร้างเสริมสุขภาพสมรรถภาพและการป้องกันโรค ก็สามารถนำเนื้อหาใน 6 ด้านของเพศศึกษา คือ การพัฒนาตามช่วงวัยของมนุษย์ การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล พฤติกรรมทางเพศ สุขภาพทางเพศ และสังคมและวัฒนธรรม โดยดึงเนื้อหาที่จะสอนในแต่ละเรื่องให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด และตรงกับช่วงอายุของนักเรียน และสอนตามกระบวนการเรียนรู้ คือ ทำ (do) สะท้อน (reflect) วิเคราะห์ (analyze) และ ประยุกต์ (apply)
และจากมุมที่คนทั่วไปมักจะมองว่า เพศศึกษา คือ เรื่องการร่วมเพศ เมื่อแรกนำเพศศึกษาเข้ามาสอนในโรงเรียน อาจารย์ประเสริฐถูกเพื่อนครูมองว่า เป็นการชี้โพรงให้กระรอกบ้าง เป็นทาสของแพธบ้าง เพราะเอาหลักสูตรเพศศึกษาของแพธมาสอน จนอาจารย์ประเสริฐต้องถามเพื่อนครูกลับไปว่า กระรอกรู้จักโพรงก่อนที่จะสอนหรือเปล่า เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะสอนเรื่องเพศศึกษาหรือเปล่า
ถ้าครูสอนวิชาเลข แล้วเด็กไปซื้อของคิดเงินไม่ถูก นับเงินทอนไม่เป็น จะโทษใคร โทษครูสอนเลขใช่ไหม เช่นกัน ถ้าเด็กมีเพศสัมพันธ์แล้วติดโรค หรือท้อง แล้วจะโทษใคร ก็ต้องโทษครูที่ไม่สอน ใช่หรือเปล่า
อาจารย์ประเสริฐ ยกตัวอย่างตอนเป็นนักเรียน เรียนกาพย์ยานี 11 ในวิชาภาษาไทย จนวันนี้ อายุ 49 ปีแล้ว ไม่เคยได้ใช้ในสิ่งที่เรียน แต่ถ้าสอนเรื่องทักษะชีวิตให้กับเด็ก เด็กเอาไปใช้ได้จนวันตาย
จากประสบการณ์การนำเพศศึกษาเข้าสู่โรงเรียน อาจารย์ประเสริฐ ให้ข้อคิดว่า ครูต้องใส่ใจในการสอน ไม่ใช่สอนให้เด็กจำ แต่สอนอย่างไรให้เข้าถึงเด็ก ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ให้เด็กตั้งคำถาม เช่น สอนเรื่องการใส่ถุงยางอนามัย ไม่ใช่สอนว่าต้องใส่อย่างนี้ๆ เท่านั้น แต่ต้องฟังด้วยว่า เด็กพูดถึงถุงยางอนามัยในมุมของเด็กอย่างไรบ้าง และการสอนเพศศึกษา ต้องสอนตรงๆ ใช้คำพูดตรงๆ ไม่ต้องเลี่ยงคำจริงๆ ที่ใช้ เช่น คำที่เรียกอวัยวะเพศ
และ การสอนให้รู้ เด็กจะเรียนอย่างสนุก แต่ถ้าสอนเพื่อเอาเกรด เด็กก็จะเรียนให้ผ่านๆไป
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการสอนเพศศึกษา คือ เด็กกล้าพูดคุยกับครู เริ่มจากเรื่องในวิชาเพศศึกษา ไปสู่เรื่องอื่นๆ
อาจารย์ประเสริฐให้มุมมองในการสอนเพศศึกษาว่า ครูต้องอดทน ใส่ใจ และรู้จักรอคอย เหมือนกับการปลูกกล้วยไม้ ที่ต้องเลี้ยง ที่ต้องรดน้ำ ต้องดูแลนานกว่าจะออกดอก แต่เมื่อออกดอกแล้ว ดอกกล้วยไม้นั้น ก็จะสวย สมบูรณ์ อยู่ได้นาน