ตั้งต้นที่เปิดใจ เรียนรู้ความผิดพลาดร่วมกัน เคล็ดลับจาก ผอ.สุเนตร ทองคำพงษ์ กรณีเด็กท้องในโรงเรียน
เมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กท้องขึ้นในโรงเรียน ครูและผู้ปกครองมักแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าถ้าเด็กไม่ได้เรียนต่อ อาจขาดโอกาสพัฒนาตัวเองและส่งผลถึงลูกในท้อง อีกฝ่ายกังวลถึงผลกระทบต่อเนื่อง เช่น เด็กไม่เข็ดหลาบ เกิดการเลียนแบบ เสียชื่อเสียงโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีระบุห้ามเด็กท้องเรียนต่อ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่มักตีความว่าสามารถทำได้ เพราะถือว่าเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
“เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ค่อยดีนะ เป็นการชี้ทางให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก เพราะเด็กเห็นช่องแล้ว ว่าทำได้”
“เด็กยังไม่สำนึกเลย ดูสิ ยังเดินคู่กันไปหน้าตาเฉย“
“ขนาดสอนเพศศึกษา ยังมีเด็กท้องในโรงเรียนได้ แล้วใครจะไว้ใจให้ลูกมาเรียนที่นี่อีก”
ทัศนคติบางส่วนจากคำบอกเล่าของ นางสุเนตร ทองคำพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา จ.พิษณุโลก หนึ่งในผู้สนับสนุน พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ ว่าด้วยการให้สิทธิเด็กท้องได้เรียนต่อ* กับความเชื่อที่ว่า ความผิดพลาดนี้น่าจะหยิบมาใช้ประโยชน์ “ในดีก็มีเสีย ในเสียก็มีดี” ตามคำสอนของหลวงปู่ชาสุภทฺโท ดังนั้น การต่อว่าจึงไม่ใช่การแก้ปัญหา อาจารย์เน้นว่าเราไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใด โรงเรียน บ้าน และชุมชนต้องเรียนรู้ร่วมกันด้วยเหตุผล คิดถึงอนาคตเด็กเป็นหลัก ผู้ใหญ่เองควรเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีความเสี่ยงในทุกที่ เด็กยุคนี้น่าสงสารเพราะว่าเขากลายเป็นผู้ถูกกระทำ
“เด็กบางคู่มีสัมพันธ์กันตั้งแต่ ป.๖ และตั้งครรภ์ตอน ม.๑ เด็กบางคนไม่มีทุนเรียน ต้องทำงานพิเศษเป็นเด็กเสิร์ฟตอนกลางคืนจึงเสียท่า ครูเชื่อว่า การตั้งครรภ์ ไม่น่าจะเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งความเป็นผู้หญิง ความเป็นแม่ที่ดูแลลูกได้ดีกว่า หากเด็กเหล่านี้ขาดโอกาสในการพัฒนา จะส่งผลถึงตัวลูกในท้องด้วย ซึ่งการท้องในวัยเรียน ตัวเด็กเองยังไม่พร้อมที่จะเป็นแม่ ยังคงสนุกไปตามประสาวัยรุ่น เราจึงเห็นภาพ เด็กที่คลอดแล้วก็ยังอยากเที่ยว หรือแม้แต่กระโดดโลดเต้นขณะที่ตั้งครรภ์อยู่”
การทำความเข้าใจกับครูที่ปรึกษานั้นไม่ยากตรงที่ครูใกล้ชิดกับเด็ก ต่างกับครูรายวิชา ผู้ปกครอง เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ชุมชน ที่บางส่วนยังแสดงพฤติกรรมต่อต้านออกมาให้เห็น โดยพบว่าแรงกดดันเหล่านี้ อาจส่งผลให้เด็กหายไปเฉยๆ เครียด บางคนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ทำลายลูกในท้องด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย ส่วนผู้ปกครองก็อับอายจนต้องย้ายเด็กออกนอกพื้นที่ เด็กบางคนถูกครอบครัวแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่เต็มใจ เช่น จับผูกข้อมือแต่งงาน ไล่ออกจากบ้าน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความซับซ้อนและเปราะบาง จึงต้องคำนึงถึงสภาพการณ์แวดล้อมของเด็กให้ถี่ถ้วน
“อำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือครูในการพิพากษาด้วยคะแนนรายวิชา ครูเห็นโลกมากกว่า มีสติมากกว่า เราคงไม่ทำเรื่องผิดพลาดมากกว่าที่เด็กเคยพลาด ควรนึกถึงความเป็น ‘แม่’ที่ต้องการพัฒนาให้พร้อมมากกว่านี้ เพื่อเด็กในท้องอีกรุ่นที่มีคุณภาพดีสังคมในวันนี้ มีเด็กเกิดน้อยแล้ว ถ้าปล่อยให้ด้อยคุณภาพอีกกรรมจะตกอยู่กับคนแก่ที่จะไม่มีคนเหลียวแลยามชราซึ่งการศึกษาจะช่วยต่ออนาคตให้กับเด็กได้”
นอกจากพูดคุย ทำความเข้าใจแล้ว ผอ.สุเนตรยังใช้วิธีต่างๆคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัด “ทีมครูที่เข้าใจในตัวเด็ก” คอยประนีประนอมเมื่อเกิดปัญหา การพาครูไปเยี่ยมบ้านเด็กบ่อยขึ้นเพื่อให้เห็นสิ่งแวดล้อมที่เด็กต้องเผชิญ ให้ครูย้อนคิดว่าในห้องเรียนครูสอนให้เขารู้เท่าทันมากพอหรือไม่ มีการสอดแทรกไปในการประชุมผู้ปกครอง ใช้กรณีศึกษาเป็นโจทย์ให้ชุมชนในเวทีแลกเปลี่ยนซึ่งมีตัวแทนเด็กทุกห้อง ทั้งกลุ่มเก่ง กลุ่มกลาง และกลุ่มอ่อน ได้แสดงความเห็น จัดหาสื่อที่เหมาะสมเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นร่วมกัน ส่วนตัวเด็ก เราจะให้คำปรึกษาเป็นรายกรณีนำข้อมูลสภาพครรภ์ สภาพครอบครัวและชุมชนมาพิจารณาร่วม จะช่วยให้เขาผ่านวิกฤตเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
ผอ.ยกคำพูดของผู้อุปถัมภ์โรงเรียนและมอบทุนให้เด็กได้เรียนต่อ ที่ว่า “..เราจะไม่ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนู อย่าคิดวน เพราะอีก ๕ ปีข้างหน้า หนูก็จะได้ทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์สมใจ ส่วนลูกของหนูก็กำลังเข้าอนุบาล..” นั่นเป็นประโยคที่อยู่ในใจ ผอ.มาจนทุกวันนี้ ช่วยให้ตระหนักว่าผู้ใหญ่อย่างเราสามารถให้โอกาสเพื่อให้เด็กมีความหวัง และมีกำลังใจสู้ต่อ
“ก้าวแรกที่เข้ามาในโรงเรียน ดิฉันถือว่า เราคือผู้ปกครองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กดี เด็กด้อย หรือเด็กพลาด ครูจะไม่ตัดสินใคร เรามาคุยกันเพื่อหาทางออกด้วยกัน จากนั้นจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลให้ดูแลร่างกาย และควบคู่กับการเยียวยาจิตใจ เพราะเด็กต้องถูกกดดันจากหลายฝ่าย ถูกลงโทษทางสังคม ซึ่งเป็นภาวะที่หนักมากอยู่แล้ว” ผอ.กล่าว
ระหว่างการเผชิญปัญหาเด็กตั้งครรภ์รายแล้วรายเล่า ผอ.ได้ใช้โอกาสนี้สร้างเครือข่ายร่วมกับชุมชน ได้แก่ เครือข่ายผู้หญิงในพื้นที่ที่เห็นด้วยกับการพัฒนาให้เด็กหญิงได้สิทธิเรียน เครือข่ายจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และวิทยุชุมชน รวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครองที่เป็นแนวร่วมในการเรียนรู้และร่วมแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาสอดรับกับหน้าที่หลักที่ให้ตัวแทนชุมชนร่วมสร้างธรรมาภิบาลขึ้นในโรงเรียน นำไปสู่การพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
“ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนมีความสำคัญมากในท่าที การเพิกเฉยถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในทางหนึ่ง เรากุมนโยบายของทั้งโรงเรียน จึงต้องหนักแน่นและทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและชุมชนมีความคิดที่เปิดกว้าง ซึ่งขณะนี้สภาพการณ์ในจังหวัดมีแนวโน้มที่เด็กท้องในวัยเรียนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งเมื่อไรก็ได้ เราเรียนรู้ความผิดพลาดไปด้วยกันโดยคำนึงถึงชีวิตของเด็กในวันข้างหน้า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โรงเรียนสามารถรักษาเด็กไว้ได้ ในขณะที่ชื่อเสียงของโรงเรียนก็เป็นที่รู้จักว่า ที่นี่ดูแลรักศิษย์ดุจลูกหลานอย่างแท้จริง” ผอ.กล่าวสรุป
****************************************
*นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๓ – ๒๕๕๗)โดย กระทรวง
สาธารณสุข เพื่อให้คนไทยทุกเพศวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศในกลุ่มวัยรุ่น บนหลักความสมัครใจ เสมอภาค และทั่วถึง เพื่อเสริมสร้างให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง อบอุ่น มีคุณภาพ โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์ ๖ยุทธศาสตร์ อาทิ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างครอบครัวและเด็กรุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัย มีพฤติกรรมอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม ปลอดภัย