นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ได้จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “๑ กรกฎาคม วันรณรงค์ตรวจเอชไอวี การเริ่มต้นที่จะบรรลุ Getting to Zero” ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วม อาทิ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย องค์การแพธ (PATH) กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กทม. ศูนย์ความร่วมมือไทยสหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลบางรัก ผู้จัดการคลินิกชุมชนสีลม สมาคมฟ้าสีรุ้ง เป็นต้น
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวถึงผลจากมาตรการลดผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์ภายในปี ๒๕๕๙ ว่า การดำเนินงานที่ผ่านมามีการรณรงค์สร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นประโยชน์ในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีแต่เนิ่นๆ ด้วยการให้สิทธิ์ตรวจฟรี ปีละ ๒ ครั้ง และมีบริการรู้ผลตรวจภายในวันเดียว รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาที่จะช่วยให้ผู้ที่ยังไม่รู้ตัวว่าเสี่ยงให้เข้ารับตรวจ หากพบว่ามีเชื้อจะได้นำสู่กระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเร็วขึ้น แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากไม่คิดว่าตนเองเสี่ยงและไม่เข้ารับการตรวจ ทำให้การ แพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในวงกว้างยังคงมีอยู่ โดยข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า ปี ๒๕๕๕ มีผู้สมัครใจเข้ารับบริการปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวีรวม ๕๖๒,๕๔๒ คน แบ่งเป็นผู้ใหญ่ ๕๔๗,๔๐๗ คน พบว่าติดเชื้อ ๑๖,๙๘๔ คน และในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี มีจำนวน ๑๕,๑๓๕ คน พบว่าติดเชื้อ ๓๐๖ คน
และจากที่กำหนดให้ ๑ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวีแห่งชาติ ในปีนี้จึงจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้บริการปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวีฟรีที่ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ทุกวันอาทิตย์ตลอดเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐น. มีการให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์และท้อง ที่สายด่วน ๑๖๖๓ บริการประชาชนตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐ น. ของทุกวันด้วย
ในการแถลงข่าว มีกลุ่มเยาวชนเครือข่ายสุขภาวะวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอ่านคำแถลงการณ์เรียกร้องให้เด็กอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปสามารถเข้าตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเซ็นยินยอม ด้วยเหตุผลที่ว่า การบริการตรวจฟรีตามโรงพยาบาลด้วยสวัสดิการภาครัฐที่ผ่านมา เยาวชนยังเข้าถึงการตรวจได้น้อย เหตุเพราะสังคมไทยไม่เปิดกว้างให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เพศวิถีศึกษาในโรงเรียน ทำให้ขาดข้อมูล ขาดทักษะป้องกันตัวเอง แม้สถานศึกษาบางแห่งจัดให้มีการเรียนรู้เพศศึกษาแล้ว และเด็กสามารถประเมินโอกาสเสี่ยงได้ แต่ยังเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ดี เนื่องจากสังคมมีทัศนคติว่าเยาวชนไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการตรวจเลือดยังต้องขออนุญาตผู้ปกครองตามเงื่อนไขของแพทยสภา ทำให้ไม่กล้าเข้ารับบริการ สูญเสียโอกาสเข้าถึงการปรึกษาและการป้องกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้เยาวชนยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และบางรายอาจกลายเป็นผู้ที่ถ่ายทอดเชื้อต่อไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
นางสาวสุกัญญา ผมหอม นักเรียนชั้น ม.๖ จากโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ เรียกร้องเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรเตรียมพร้อมให้ผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง คนในครอบครัว พูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลานได้ ครูอาจารย์ในโรงเรียนควรมีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างตรงไปตรงมา รับฟังความเห็นของเด็ก และมีทัศนคติในเรื่องเพศแบบไม่ตัดสิน เข้าใจเรื่องเพศบนความต่างในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
(*กลุ่มเยาวชนเครือข่ายสุขภาวะวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร เป็นการรวมตัวของแกนนำเยาวชนจาก โรงเรียนที่จัดการเรียนรู้เพศศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเสสะเวชวิทยา มัธยมวัดเบญจมบพิตร นนทรีวิทยา สตรีวิทยา ๒ พิบูลอุปถัมภ์ มัธยมบ้านบางกะปิ ไทยนิยมสงเคราะห์ มัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ มัธยมประชานิเวศน์ และสตรีวัดอัปสรสวรรค์)