Loading ...


 

          ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำที่เหมาะสมสำหรับคุณครูที่มีลูกศิษย์เป็นกะเทย เพื่อเป็นการป้องกันมิให้คุณครูทำร้ายลูกศิษย์ของท่านโดยที่ท่านก็อาจจะไม่ทันรู้ตัว เพราะคุณครูทุกคนต่างก็มีความหวังดี อยากให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จก้าวเดินไปบนหนทางที่ถูกต้อง แต่บางครั้งความหวังดีภายใต้ความไม่เข้าใจก็อาจทำให้คุณครูทำร้ายเด็กโดยไม่รู้ตัว

          เราหวังว่าข้อคิดเหล่านี้จะทำให้คุณครูรู้จักกะเทย เข้าใจกะเทยมากขึ้น เพื่อที่คุณครูจะได้ไม่เผลอทำร้ายลูกศิษย์กะเทยที่น่ารักของท่านโดยไม่ตั้งใจ

  • ปฏิบัติกับเขาเหมือนกับที่ท่านปฏิบัติกับนักเรียนหญิง นักเรียนชาย
     
  • โดยปกติเด็กที่เป็นกะเทยมักมีบุคลิกที่เราสามารถสังเกตได้ตั้งแต่เขายังเป็นเด็กๆ แต่เด็กบางคนก็มีพัฒนาการการเป็นกะเทยที่แตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน
     
  • หากท่านเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ของท่าน เช่น ตอน ป.1 ดูเป็นเด็กผู้ชาย พอโตขึ้นอยู่ชั้น ป.5 ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นกะเทย ท่านไม่ควรตั้งคำถามกับเด็กๆ ของท่านตรงๆ ในที่สาธารณะ เช่น “ทำไมชอบทำตัวเป็นกะเทยแบบนี้”  “ทำไมชอบทำตัวตุ้งติ้ง”   “เป็นผู้ชายดีๆ ไม่ชอบหรือไง” ฯลฯ  ขอให้ท่านเข้าใจอย่างปกติธรรมดาว่าเด็กเป็นกะเทยอยู่แล้วเพียงแต่เขาอาจจะรอเวลาที่เหมาะสมกับตัวเขาเองที่จะแสดงออก  การที่คุณครูตั้งคำถามเช่นนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่สาธารณะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเป็นนั้นเป็นเรื่องผิด ทำให้เขารู้สึกว่าเขาถูกประจาน ซึ่งจะมีผลกับการเคารพตัวเองของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกในแง่ลบกับสิ่งที่ตัวเขาเป็นอันเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ บางทีเราไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามก็ได้ เพียงแค่เฝ้าดูและคอยสังเกตไม่ให้เด็กคนอื่นกระทำรุนแรง อย่างเช่น พูดล้อเลียน ทำร้ายร่างกาย เพราะการทำเช่นนั้นถือเป็นการละเมิดเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น และเป็นการไม่ให้เกียรติผู้อื่นอันเป็นสิ่งที่คุณครูควรให้ความคุ้มครองกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม
     
  • เด็กบางคนมีความเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยที่แตกต่างกันไป เช่น เด็กบางคนเปลี่ยนแปลงเป็นกะเทยเมื่ออยู่ชั้น ม.ปลาย หรือ ปวช. หรือบางคนก็เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ขอให้คุณครูเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การยอมรับของครอบครัว การยอมรับภายในห้องเรียนหรือโรงเรียน การยอมรับของเพื่อน กฎระเบียบต่างๆ ภายในโรงเรียนหรือภายในมหาวิทยาลัย ความมั่นใจในตัวเอง มุมมองต่อตัวเอง บรรยากาศและสถานการณ์รอบๆ ตัว แค่คุณครูไม่ตั้งคำถามกับความเปลี่ยนแปลงของเด็กแค่นี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว
     
  • บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของเด็กก็เกิดขึ้นในช่วงวัยที่แตกต่างกันไป เช่น ม.1 ไม่ได้ดูเป็นกะเทย แต่เริ่มเปลี่ยนเป็นกะเทยตอนอยู่ ม.ปลาย / หรือตอนอยู่ ปวช.1 ยังไม่ดูเป็นกะเทย พอขึ้น ปวช. 3 ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นกะเทย การเปลี่ยนแปลงเป็นกะเทยของเด็กแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน บางคนก็มีบุคลิกตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งสำคัญก็คือคุณครูไม่ควรตั้งคำถามเพื่อให้เด็กเปลี่ยนเป็นผู้ชายดังเดิม เพราะถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง มีสองทางที่คุณครูควรทำคือ ให้การยอมรับ และคอยดูแลเด็กนักเรียนคนอื่นๆ มิให้ล้อเลียนหรือทำความรุนแรงกับเด็กที่เป็นกะเทยนั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณครูควรทำ
     
  • ในกรณีคุณครูมีคำถามหรือข้อสงสัยว่าเหตุใดลูกศิษย์ของท่านเป็นกะเทย ควรเรียกลูกศิษย์ของท่านมาพูดคุยเป็นการส่วนตัวดีกว่าที่จะตั้งคำถามกับเด็กในที่สาธารณะดัง ๆ ซึ่งบางครั้งเด็กจะรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะเขาจะรู้สึกว่าเขากำลังถูกประจานในที่สาธารณะ การตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนของเด็กเป็นเรื่องอ่อนไหวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรตั้งคำถามในที่ๆ มีคนอื่นอยู่ด้วย
     
  • วิธีการตั้งคำถามที่ดีที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยก็คือ เริ่มต้นด้วยการบอกกับนักเรียนว่า “ครูไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกะเทยมาก่อน หากหนูจะช่วยครูได้ด้วยการตอบคำถามของครู ให้ความกระจ่างมากขึ้นจะเป็นการดีไม่น้อยเพราะจะทำให้ครูเข้าใจลูกศิษย์ที่เป็นกะเทยมากขึ้น” จากนั้นก็เริ่มตั้งคำถามต่างๆ ที่คุณครูต้องการทราบ แต่ขอให้คุณครูทราบว่าคำถามบางคำถามที่อ่อนไหวมากๆ อาจจะต้องถามเด็กก่อนว่า เรื่องนี้ถามได้ไหม เรื่องโน้นถามได้ไหม หากเด็กไม่สะดวกก็ไม่ควรคาดคั้นเด็กให้ตอบ
     
  • เมื่อคุณครูมีการขออนุญาตตั้งคำถามก่อนจะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สามารถตอบคำถามที่เกี่ยวกับตัวตนของพวกเขาได้อย่างสบายใจ อีกด้านหนึ่งก็คือเด็กจะรู้สึกดีที่มีผู้ใหญ่รับฟังในสิ่งที่เขาเป็นอย่างเคารพ
     
  • ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าการตั้งคำถามของคุณครูนั้นเป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อคุณครูจะได้เข้าใจเด็กที่เป็นกะเทยจริงๆ มิใช่ตั้งคำถามเพื่อตั้งแง่ตัดสินพิพากษาว่าเป็นกะเทยแล้วผิดต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือเพื่อมีอคติกับเด็กๆ ที่เป็นกะเทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นจะไม่ก่อให้เกิดผลดีใดๆเลย
     
  • ไม่นำความเป็นกะเทยมาพูดในแง่ลบ หรือพูดว่าเป็นความผิดปกติเพราะนั่นคือการทำร้ายจิตใจเด็กที่เป็นกะเทยอย่างรุนแรง
     
  • ไม่นำเรื่องกะเทยมาพูดหรือทำท่าตลกล้อเลียนให้เกิดการขำขันภายในห้องเรียน
     
  • ไม่พูดเปรียบเทียบกะเทยว่าด้อยกว่าผู้ชายผู้หญิง แต่พูดส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กที่เป็นกะเทยรู้สึกดีกับความเป็นกะเทยของตนเอง
     
  • ที่เราเห็นกะเทยสนุกสนาน ร่าเริง มีความมั่นใจในตัวเอง แท้จริงแล้วพวกเขาก็มีความเปราะบางไม่ต่างจากเด็กผู้ชายเด็กผู้หญิงทั่วไป หากมีใครสบประมาทในความเป็นกะเทยพวกเขาย่อมรู้สึกเจ็บปวด ทางที่ดีก็คือให้เราปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง ของเราให้ยอมรับเด็กที่เป็นกะเทย พยายามเข้าใจคนที่เป็นกะเทย มองให้เห็นว่าการรังเกียจกะเทยเป็นการทำร้ายคนอย่างหนึ่ง ทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็น “มโนกรรม” แม้ไม่ได้ทำร้ายทาง “กายกรรม” หรือ “วจีกรรม”  เพียงแค่เรามีความรู้สึกรังเกียจก็ถือว่าเป็น “การกระทำทางใจ” ในที่สุดย่อมพัฒนาไปสู่ความรุนแรงทางกายและวาจา เหมือนกับที่ศักดิ์ชัยหรือน้องเต้ได้รับจากคุณครู (อ่านบทความเรื่องของศักดิ์ชัยได้ที่  http://www.teenpath.net/content.asp?ID=17531  อ่านบทความเรื่องของน้องเต้ได้ที่  http://www.teenpath.net/content.asp?ID=17471)
     
  • หยุดพูดเรื่องกรรม การพูดว่าการเป็นกะเทยเป็นผลจากกรรมเก่า เช่น ไปผิดลูกผิดเมียชาวบ้านทำให้ชาตินี้เกิดมาเป็นกะเทย ในทางปฏิบัติเป็นคำสอนที่ไม่ทำให้คนเป็นกะเทยรู้สึกดีกับตัวเอง ยิ่งพูดก็ยิ่งเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ ควรหยุดพูดเรื่องกรรมในลักษณะนี้
     
  • หยุดพูดคำว่า “เลือกเกิดไม่ได้” คำๆ นี้มักถูกใช้กับกะเทยแต่มักไม่ถูกใช้กับ “ผู้ชาย” หรือ “ผู้หญิง” ทั้งๆ ที่ควรจะถูกใช้กับทุกๆ คนไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม แต่การที่คำๆ นี้ถูกใช้กับกะเทยมากกว่าและมักจะได้ยินบ่อยมากทำให้คนเป็นกะเทยรู้สึกว่านี่เป็นเวรกรรม ซึ่งจริง ๆ แล้วในโลกนี้ไม่ใช่กะเทยเท่านั้นที่เลือกเกิดไม่ได้ แม้แต่ “ผู้ชาย” หรือ “ผู้หญิง” ก็เลือกเกิดไม่ได้เช่นกัน  ดังนั้น หยุดใช้คำว่า “เลือกเกิดไม่ได้” กับกะเทยดีกว่า เพราะคำนี้สร้างความรู้สึกที่เป็นลบให้กับคนที่เป็นกะเทยมากกว่าจะเป็นบวก
     
  • หากมีการพูดว่า “ทำไมคนจึงเกิดเป็นกะเทย” ควรตอบว่า เพื่อคนที่ไม่ได้เกิดเป็นกะเทยจะได้เรียนรู้เรื่องการยอมรับความแตกต่างหรือคนเกิดมาเป็นกะเทยก็เพื่อคนที่เกิดมาเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงจะได้เรียนรู้เรื่องความใจกว้าง ยอมรับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นทั้งผู้ชายหรือผู้หญิงนั่นเอง
     
  • ไม่เหมารวมว่ากะเทยทุกคนต้องเก่ง เรียนดี มีความสามารพิเศษกว่า หรือดีกว่าผู้หญิงผู้ชาย
     
  • ไม่เหมารวมว่ากะเทยทุกคนต้องมีความสามารถเฉพาะด้าน เช่น แต่งหน้า ทำผม การแสดงศิลปะ งานบันเทิงเท่านั้น แต่กะเทยยังมีความสามารถอื่น ๆ มากกว่านั้นการมองว่ากะเทยมีความสามารถเฉพาะด้านเป็นการตัดโอกาสความสามารถของคน  เพราะแท้จริงแล้วกะเทยคนหนึ่งอาจจะมีความสามารถมากกว่าการแต่งหน้าหรือทำผมอย่างที่เราคิดกัน
     
  • ยอมรับกะเทยที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งสวย ไม่สวย เรียนเก่ง เรียนไม่เก่งเหมือนอย่างที่ผู้ชายก็มีทั้งหล่อและไม่หล่อ ผู้หญิงก็มีทั้งสวยและไม่สวย ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีทั้งมีความสามารถและไม่มีความสามารถปะปนกันไป กะเทยก็มีลักษณะดังกล่าวที่ไม่แตกต่างกัน
     
  • ทั้งหมดนั้นคือทัศนคติและความคาดหวังที่ครูและเพื่อนๆ หรือคนทั่วไปมักสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการยอมรับกะเทย ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความเป็นมนุษย์ของกะเทย
     
  • เมื่อคุณครูมีความรู้ความเข้าใจกะเทยดีแล้ว คุณครูก็สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นกะเทยได้ ทำให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจในบุตรหลานที่เป็นกะเทย ไม่ทำร้ายหรือกระทำรุนแรงโดยไม่ตั้งใจ

 

หากคุณครูมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ควรติดต่อองค์กรที่ทำงานสร้างความเข้าใจกับกะเทยโดยตรง ได้แก่
เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยThai Transgender Alliance
เว็บไซต์ :http://www.thaitga.com

 

เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย C/O ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุขสวัสดิการและสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ 25/25 ชั้น 3 อาคารคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทรศัพท์ 08 659 74636
Email : jtnote@gmail.com



ความคิดเห็นที่  3

   คนเป็นครูควรอ่าน และทำความเข้าใจค่ะ

คุณยาย   (29 มีนาคม 2557  เวลา 15:02:42)

ความคิดเห็นที่  2

 ขออภัยข้อความแรกพืมพ์ไม่ถูกค่ะ " Varieties is Beauty." หรือ  " ความหลากหลายคือความสวยงาม "

วารุณี ศโรภาส   (17 ธันวาคม 2556  เวลา 16:35:53)