“ไลน์” “เฟซบุ๊ก” “อินสตาแกรม” เทคโนโลยีที่ช่วยคลายความเหงาและความ “คิดถึง” ของคนในยุคปัจจุบัน กลายเป็นเรื่อง “ไม่มีความหมาย” ในภาพยนตร์เรื่อง “คิดถึงวิทยา”
คิดถึงวิทยา ภาพยนตร์รักโรแมนติก โดยผู้กำกับหนังรักชื่อดังอย่าง นิธิวัฒน์ ธราธร ที่เคยฝากผลงานภาพยนตร์เรื่อง “seasons change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” และ “หนีตามกาลิเลโอ” ได้กลับมาสร้างผลงานอีกครั้งกับเรื่อง คิดถึงวิทยา ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความ “คิดถึง” ของคนแปลกหน้าสองคน ที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ช่วงเวลาต่างกัน โดยมีเพียงของสิ่งเดียวที่เชื่อมคนทั้งคู่ไว้ด้วยกันคือ ไดอารี
เรื่องราวของการส่งผ่านความ “คิดถึง” ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครหลักสองตัว คือ ครูสอง รับบทโดย บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว และครูแอน รับบทโดย พลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ซึ่งทั้งสองได้จับพลัดจับผลูถูก “เนรเทศ” ไปเป็นครูสอนเด็กนักเรียนลูกชาวประมงอยู่ที่โรงเรียนเรือนแพกลางเขื่อนใหญ่ในภาคเหนือ
เนื้อเรื่องดูคล้ายจะเป็นหนังรักโรแมนติกธรรมดา แต่ความพิเศษมันอยู่ที่ว่า โรงเรียนเรือนแพนั้น แม้ว่าจะเป็นสถานที่ที่สวยงามและเงียบสงบ แต่กลับเป็นที่ที่มีแต่ความโดดเดี่ยว เพราะแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีทั้งสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งการเดินทางไปไหนมาไหนยังต้องอาศัยเรือหางยาว
จนดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ทำร้ายคนใน “ยุคสังคมก้มหน้า” เสียเหลือเกิน
แม้ว่าครูสองและครูแอนจะสอนที่โรงเรียนเดียวกัน แต่ทั้งสองกลับไม่เคยพบหน้ากันเลย เนื่องจากทั้งคู่มาสอนกันคนละภาคการศึกษา เช่นนี้แล้วคนสองคนจะ “รู้จัก” และ “คิดถึง” กัน ได้อย่างไร
เรื่องราวคงจะดำเนินไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นหากครูสองไม่บังเอิญไปเจอไดอารีเล่มหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวและความรู้สึกของครูแอนตลอดเวลาที่ต้องมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้
ไดอารีเล่มนี้ ถือเป็นคู่มือการสอนและคู่มือการใช้ชีวิตจาก “รุ่นพี่” ที่สืบทอดมาถึง “รุ่นน้อง” และยังเปรียบเสมือนเพื่อนรู้ใจเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถช่วยคลายความเหงาของเขาลงไปได้บ้าง จนครูสองอดไม่ได้ที่จะเขียนความรู้สึกของตัวเองโต้ตอบลงไปบ้าง และไดอารีเล่มนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ทำให้คนแปลกหน้าสองคน “คิดถึง” กัน จนกระทั่งอยากจะพบหน้า
การใช้ไดอารีในการเล่าเรื่องราวถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะแหวกกระแสของ “ยุคโซเชียลมีเดีย” ที่เน้นความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร แต่สิ่งที่คิดถึงวิทยานำเสนอออกมานั้น ไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องดู “น่าเบื่อ” หรือ “เชย” แม้แต่น้อย แต่มันกลับทำให้ภาพยนตร์ดูน่าติดตามว่าท้ายที่สุดแล้ว การสื่อสารแบบเก่าๆ จะนำพาให้คนแปลกหน้าสองคนมาพบกันได้หรือเปล่า
หากมองอีกมุมหนึ่ง ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอการตามหาใครคนหนึ่งผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะด้วยเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์ ความโรแมนติกของเรื่องราวก็คงลดทอนลงไป เพราะการใช้วิธีการตามหาสุด “เชย” เช่น การเดินหาตามที่อยู่ การตามหาครูแอนจากรอยสักรูปดาวที่ข้อมือ หรือการใช้ให้นักเรียนวาดรูปหน้าครูแอน ฯลฯ มันทำให้เรารู้ว่า การตามหาใครคนหนึ่งโดยไม่ใช้เทคโนโลยีมันช่างยากลำบาก
และทำให้เราเห็นคุณค่าของความคิดถึงมากยิ่งขึ้น
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจมากขึ้นคือ การที่คนทั้งคู่รู้สึก “คิดถึง” กัน แม้ไม่เคยพบหน้ากันสักครั้ง จุดนี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าคนทั้งสองคนเรียนรู้และคิดถึงกัน เพราะนิสัยใจคอไม่ใช่เพียงเพราะหลงใหลในรูปร่างหน้าตา
บรรยากาศของภาพยนตร์เป็นไปด้วยความเรียบง่ายของวิถีชีวิตแบบ “บ้านๆ” ฉากหลักที่ใช้ในการถ่ายทำจะมีเพียงแค่ฉากเดียวคือ โรงเรียนเรือนแพ แต่ความงดงามและความสงบเงียบของบรรยากาศในสถานที่ถ่ายทำนั้นสามารถช่วยเติมพลังและความอิ่มเอมใจให้กับผู้ชมที่อาศัยอยู่ท่ามกลาง “สังคมเมือง” ที่มีแต่ความเร่งรีบได้เป็นอย่างดี
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงถ่ายทอดเรื่องราวความรักและความโรแมนติกของคนสองคนเท่านั้น แต่ยังได้สอดแทรกข้อคิดและจิตวิญญาณของความเป็นครูเอาไว้อย่างแนบเนียน
ครูแอนและครูสองไม่ได้แค่สอนหนังสือให้กับเด็กในห้องเรียน แต่กลับ “สอน” ให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิต ได้สัมผัสและเรียนรู้จาก “ของจริง” มากกว่าแค่การเรียนจากตำรา
ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า หากว่าในชีวิตจริงครูทุกคน “ทุ่มเท” กับการสอนเช่นเดียวกับครูแอนและครูสอง ก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย ซึ่งความเชื่อและการกระทำที่เหมือนกันนี้ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงให้ครูแอนและครูสอง “คิดถึง” กัน
คิดถึงวิทยา ภาพยนตร์ที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า แม้ระยะทางจะห่างไกลและไร้ซึ่งเทคโนโลยี เราก็สามารถส่งความรู้สึกให้คนที่เรา "คิดถึง" ได้เช่นกัน