รร.พิบูลอุปถัมภ์จัดอบรมหลักสูตรพ่อแม่ให้ครูหวังลดปัญหานักเรียนในโรงเรียน ด้านครูพิบูลฯ ชี้วัยรุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาหลากหลาย หากพ่อแม่ไม่คุยกับลูกก็ยิ่งผลักไสลูกออกจากบ้าน
โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์จัดอบรมหลักสูตร “การสื่อสารระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง กับบุตรหลาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศในเยาวชน” ให้แก่อาจารย์โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์จำนวน ๑๙ คน และอาจารย์จากโรงเรียนเครือข่ายสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๐ คน ได้แก่ โรงเรียนวัดมหาบุษย์ (พิทักษ์ถาวรคุณ) โรงเรียนบางบัว (เพ่งตั้งตรงจิตวิทยาคาร) โรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) โรงเรียนวัดอุทัยธาราม และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๕ เฉลิมพระเกียรติเพื่อให้อาจารย์สามารถนำไปอบรมกับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานวัยรุ่นให้มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศ มีความเข้าใจวัยรุ่น ตลอดจนมีทักษะการสื่อสารที่ดีภายในครอบครัว ซึ่งการอบรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ -๑๓ พ.ค. ณ ห้องประชุม อาคารรัชดาภิเษกสมโภช โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์
นายรณยุทธ ทองตะโก อาจารย์ผู้สอนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ หนึ่งในผู้เข้าอบรม กล่าวว่า วัยรุ่นขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่หลากหลาย ทั้งจากเพื่อน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมรอบตัวต่างๆ ซึ่งหากพ่อและแม่ยังไม่ยอมพูดคุยกับลูก ก็ยิ่งมีส่วนผลักไสพวกเขาออกจากบ้านยิ่งขึ้น
“พ่อแม่ควรหันมาคุยกับลูกไม่ว่าจะต้องใช้วิธีอะไรก็ตาม พยายามเข้าหาลูกทีละนิด จากที่เคยบ่น เคยด่า หรือออกคำสั่งก็ลองหันมาคุยด้วยเหตุผล ซึ่งมันน่าจะมีพื้นที่หนึ่งที่พ่อแม่และลูกพูดคุยกันได้”นายรณยุทธกล่าว
ด้านนายธีระวัฒน์ หนูขาว อาจารย์ผู้ประสานงานโครงการคุยกับลูกหลานเรื่องเพศ โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กล่าวถึงความเป็นมาของการอบรมครั้งนี้ว่า โรงเรียนได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิแพธฯ อยู่แล้ว จากโครงการโรงเรียนสุขภาวะดี (School Health) ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเยาวชนในโรงเรียน ประกอบกับได้ทราบข่าวจากทางมูลนิธิฯ ว่ามีโครงการอบรมพ่อแม่เพื่อคุยกับลูกหลานเรื่องเพศ จึงทำให้นายสมศักดิ์ แสวงการ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะตระหนักว่า ปัญหาสำคัญของนักเรียนที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเกิดจากพ่อแม่ไม่คุยกับลูก และทางโรงเรียนก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ จึงได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยให้อาจารย์จากโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์และโรงเรียนเครือข่ายเข้าอบรมเป็นวิทยากรหลักเพื่อนำไปอบรมกับพ่อแม่ ผู้ปกครองได้ ซึ่งหากพ่อแม่เข้าใจนักเรียนมากขึ้น นักเรียนไม่มีปัญหากับทางบ้าน ก็เชื่อว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เช่น การตั้งครรภ์ในวัยเรียน น่าจะลดลงตามไปด้วย
นายธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ในช่วงเดือน มิ.ย. อาจารย์โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ที่เข้าอบรมจะนำไปทดลองอบรมจริงกับผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.๑ และผู้ปกครองเครือข่ายจากชั้นอื่นๆ จำนวน ๑๑๐ คน โดยสาเหตุที่เลือกอบรมผู้ปกครองจากนักเรียนชั้น ม.๑ ก่อนนั้น เนื่องจากนักเรียนส่วนหนึ่งเพิ่งเข้ามาใหม่ หากมีการสื่อสารที่ดีกับพ่อแม่ตั้งแต่ต้นก็น่าจะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งนี้โรงเรียนจะมีการประเมินผลการอบรม โดยพูดคุยกับนักเรียนว่ามีการเปลี่ยนแปลงการสื่อสารที่ดีขึ้นภายในครอบครัวหรือไม่ ซึ่งหากได้ผลที่น่าพึงพอใจก็อาจจะขยายการอบรมไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ ด้วย