ภาพประกอบจาก www.postjung.com / www.dailynews.co.th / www.innews.co.th
อีก 5 เดือนข้างหน้า คือ เดือนเมษายน 2558 ฤดูเกณฑ์ทหารจะเวียนมาอีกครั้ง จึงเขียนเรื่องนี้ประชาสัมพันธ์ให้น้อง ๆ ที่เป็นกะเทยผู้ชาย ภิกษุ สามเณร ได้ทราบล่วงหน้าว่าท่านต้องทำอะไรบ้าง หรือคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกหลานทั้งที่เป็นกะเทยและเป็นผู้ชายได้ทราบว่าท่านต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกหลานของท่านอย่างไรบ้าง หรือบางท่านที่บวชเป็นสามเณร พระภิกษุ จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หรือบางท่านที่มีเพื่อนเป็นกะเทยก็อาจนำข่าวนี้ไปบอกเพื่อน ๆ ของท่านเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นคดีความ “หนีทหาร” เพราะเมื่อเป็นคดีความขึ้นมาจะกลายเป็นเรื่องยุ่งเหยิงกับชีวิต
กะเทยหรือสาวประเภทสองได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหาร
บางคนบอกว่าเป็นกะเทยโชคดีมีสิทธิพิเศษไม่ต้องเป็นทหาร แท้จริงแล้วไม่ใช่สิทธิพิเศษอะไรเลย เรื่องของเรื่องก็คือ ทางกองทัพไม่ได้ต้องการกะเทยเข้าไปรับราชการทหาร เพราะการมีกะเทยเข้าไปในกองทัพจะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการจัดการต่าง ๆ ภายในกรมกอง ยกตัวอย่างเช่น การจัดให้นอนรวมกับทหารคนอื่น ๆ การอาบน้ำรวมกับทหารคนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้การฝึกทหารเกิดอุปสรรคตามมา ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดปัญหาจึงมีการคัดกรองคนที่เป็นกะเทยออกจากการเป็นทหารตั้งแต่ด่านแรกที่มีการเข้ามารายงานตัว
แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือเหตุผลที่ทางกองทัพระบุใน ใบสด.43 ในกรณีไม่รับกะเทยเข้าเป็นทหาร คือ กะเทย “เป็นโรคจิตถาวร” การระบุเช่นนี้ทำให้กะเทยประสบปัญหาเมื่อพวกเธอไปสมัครงาน บริษัท ห้างร้าน จะไม่รับเข้าทำงานเนื่องจาก ใบ สด.43 ระบุว่าเธอ “เป็นโรคจิต” นี่จึงเป็นเหตุให้ “มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย” ต้องลุกขึ้นมาขอให้ทางกองทัพเปลี่ยนการระบุอัตลักษณ์แก่กะเทยด้วยสำนวนเช่นนั้น
ในที่สุดเหตุการณ์ทั้งหมดจึงนำไปสู่ขั้นตอนพิเศษสำหรับกะเทย แล้วก็กลายเป็นข่าวขึ้นมา ทำให้สังคมหรือแม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เข้ากกกเข้าใจผิดคิดว่ากะเทยมีสิทธิพิเศษไม่ต้องเป็นทหาร แต่ความจริงคือการเป็นกะเทยไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะไปเป็นทหารได้ต่างหาก
ภาพประกอบจาก www.sanook.com
ทีนี้ พอกะเทยไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะไปเป็นทหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นกะเทยแล้วสบาย ๆ ไม่ต้องทำอะไร เมื่อถึงวันตรวจเลือกก็ได้รับการยกเว้นอยู่ดี ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถึงจะเป็นกะเทย ไม่ว่าจะแปลงเพศหรือยังไม่ได้แปลงเพศก็ต้องปฏิบัติเหมือนคนอื่น ๆ คือ (1) ไปขึ้นทะเบียนทหาร (2) ไปรับหมายเรียก (3) ไปเข้ารับการตรวจเลือก และมีขั้นตอนที่พิเศษตามมาซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
การเตรียมความพร้อมในการเข้าตรวจเลือกเป็นทหารมี 4 ขั้นตอนโดยเริ่มต้นเมื่อท่านอายุครบ 17 ปี
ภาพจาก www.postjung.com
ขั้นตอนที่ 1. ไปขึ้นทะเบียนทหาร [สด.9]
ขั้นตอนแรกไม่ว่าท่านจะเป็นกะเทยหรือไม่ได้เป็นกะเทยก็ตาม แค่มีคำนำหน้าว่า “นาย” ท่านก็ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินเมื่ออายุครบ 17 ปี ภายในปี พ.ศ. นั้น แม้ขณะนั้นท่านจะบวชเป็นสามเณรท่านก็ต้องไปขึ้นทะเบียนทหารเช่นกัน
การนับอายุของทางราชการก็คือ ให้นับ ปีเกิด แล้ว + ด้วย 17 = ปีที่ท่านต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร
ยกตัวอย่างท่านเกิด พ.ศ. 2540 ปีที่ท่านต้องไปขึ้นทะเบียนทหารก็คือ 2540 + 17 =พ.ศ. 2557 ซึ่งก็คือปีนี้
ปีนี้ภายในเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมท่านที่อายุครบ 17 ปี หรือท่านที่เกิดภายในปี 2540 (ไม่ว่าจะเกิดวันใด, เดือนใดก็ตาม) ให้รีบไปขึ้นทะเบียนทหารด่วน ก่อนสิ้นปี ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกเดือนกว่า ๆ โดยไปขึ้นทะเบียนทหารกับทางสัสดีที่อำเภอที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่
โดยนำหลักฐาน 2 อย่างไปแสดง คือ
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ทะเบียนบ้าน (ควรทำสำเนาไปทั้งสองอย่าง)
หลังจากขึ้นทะเบียนทหารเสร็จเรียบร้อย ท่านจะได้รับเอกสารสำคัญที่เรียกว่า สด. 9 เก็บไว้เป็นหลักฐาน อย่าทำหาย (โปรดจำไว้ว่าเอกสารทุกอย่างควรถ่ายสำเนาสำรองไว้กันหาย)
***โทษ : การไม่ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินในปีที่กำหนด มีโทษปรับไม่เกิน ๓๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ***
โทษข้างต้นถือว่ารุนแรง เพียงแค่ท่านอยู่เฉย ๆ ไม่ไปขึ้นทะเบียนทหารก็ถือว่ามีความผิดฐานหนีทหาร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกะเทยหรือผู้ชาย หรือกำลังบวชเป็นสามเณร ก็ต้องไปขึ้นทะเบียนทหารทุกคนเมื่ออายุครบ 17 ปี
ภาพจาก www.dailynews.co.th
ขั้นตอนที่ 2 ไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร [สด.35]
หลังจากขึ้นทะเบียนทหารแล้ว ผ่านไป 3 ปี ท่านอายุครบ 20 ปี ก็ให้ไปรับ “หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ไปรับหมายเกณฑ์” หากท่านบวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณรท่านก็ต้องไปรับหมายเกณฑ์เช่นกัน โดยไปรับหมายเกณฑ์กับสัสดีที่อำเภอที่ท่านเคยไปขึ้นทะเบียนทหารตามขั้นตอนที่ 1 นั่นเอง
การนับอายุของทางราชการก็คือ ให้นับ ปีเกิด แล้ว + ด้วย 20 = ปีที่ท่านต้องไปรับหมายเกณฑ์
ยกตัวอย่างท่านเกิด พ.ศ. 2537 ปีที่ท่านต้องไปรับหมายเกณฑ์ก็คือ 2537 + 20 = พ.ศ. 2557 ซึ่งก็คือปีนี้
ปีนี้ 2557 ภายในเดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม ท่านที่อายุครบ 20 ปีต้องไปรับหมายเกณฑ์ทหาร
โดยนำหลักฐาน 2 อย่างไปแสดง คือ
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ใบ สด.9 ที่ได้รับจากขั้นตอนที่ 1 ให้นำไปด้วย
ขณะนี้เหลือเวลาอีกเดือนกว่า ๆ ใครที่อายุครบ 20 ปีในปีนี้ให้รีบไปรับหมายเกณฑ์ได้นับแต่บัดนี้ก่อนจะสิ้นปีซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน หมายเกณฑ์มีชื่อเรียกว่า สด.35 เก็บไว้ให้ดี อย่าทำหาย
ใบ สด. 35 คือใบนัดการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร ซึ่งโดยปกติจะนัดเราต้นเดือนเมษายนของปีถัดไป
***โทษ : การไม่ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินในปีที่กำหนด มีโทษปรับไม่เกิน ๓๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ***
ขั้นตอนที่ 3 ไปโรงพยาบาลเพื่อขอใบสำคัญจากแพทย์เพื่อยืนยันว่าเราเป็น “กะเทย”
สำหรับขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนสำหรับน้องที่เป็นกะเทยหรือสาวประเภทสอง ทั้งที่ทำอะไรกับร่างกายมาแล้วและยังไม่ได้ทำ แม้น้องจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหาร แต่น้องก็ต้องไป “ตรวจโรคก่อนการตรวจเลือก” จากโรงพยาบาลเสียก่อนเพื่อรับใบรับรองแพทย์ หรือ ใบสำคัญความเห็นแพทย์ เอกสารนี้มีความสำคัญคือเป็นเอกสารยืนยันอัตลักษณ์ว่าน้องเป็นกะเทย แล้วใช้ยื่นประกอบการพิจารณาในวันตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร
สิ่งที่น้องต้องนำไปโรงพยาบาลมี 3 อย่าง คือ
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ใบสำคัญ สด. 9 (ใบขึ้นทะเบียนทหาร)
3. ใบสำคัญ สด. 35 (หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร)
และต้องไปโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 20 แห่งอยู่ใน 20 จังหวัด กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ใกล้โรงพยาบาลไหนก็ไปโรงพยาบาลนั้น
1. รพ. พระมงกุฎเกล้า - กรุงเทพฯ
2. รพ. อานันทมหิดล - ลพบุรี
3. รพ. ค่ายธนะรัชต์ - ประจวบคีรีขันธ์
4. รพ. โรงเรียนนายร้อยจปร. - นครนายก
5. รพ. ค่ายจักรพงษ์– ปราจีนบุรี
6. รพ. ค่ายสุรสีห์ - กาญจนบุรี
7. รพ. ค่ายอดิศร - สระบุรี
8. รพ. ค่ายนวมินทราชินี - ชลบุรี
9. รพ. ค่ายสุรนารี –นครราชสีมา
10. รพ. ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ - อุบลราชธานี
11. รพ. ค่ายวีรวัฒน์โยธิน - สุรินทร์
12. รพ. ค่ายประจักษ์ศิลปาคม - อุดรธานี
13. รพ. ค่ายกฤษณ์สีวะรา - สกลนคร
14. รพ. ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช - พิษณุโลก
15. รพ. ค่ายจิรประวัติ - นครสวรรค์
16. รพ. ค่ายสุรศักดิ์มนตรี - ลำปาง
17. รพ. ค่ายกาวิละ - เชียงใหม่
18.รพ.ค่ายวชิราวุธ - นครศรีธรรมราช
19.รพ. ค่ายเสนาณรงค์ -สงขลา
20. รพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร -ปัตตานี
สาเหตุที่ต้องเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกเพราะโรงพยาบาลทั้ง 20 แห่งประสานงานกับหน่วยงานของกองทัพบกซึ่งทำหน้าที่ตรวจโรคผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารโดยตรง โรงพยาบาลทั้ง 20 แห่งมีคณะกรรมการแพทย์ จำนวน 3 ท่าน เป็นผู้วินิจฉัยและออก “ใบสำคัญความเห็นแพทย์ (ทบ.466-620)” ให้กับน้อง ๆ กะเทยไว้ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันอัตลักษณ์ว่าเป็นกะเทย น้องอยู่จังหวัดใดก็สามารถไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด แล้วเก็บ “ใบสำคัญความเห็นแพทย์” เอาไว้ให้ดี อย่าทำหาย
มีข้อแม้ว่า “ใบสำคัญความเห็นแพทย์” จะมีอายุการใช้งานเพียง 60 วันเท่านั้น !!
ทางกองทัพจึงมีข้อแนะนำว่าควรไปโรงพยาบาลระหว่างเดือนมกราคม ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของปีที่น้องต้องเข้ารับการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร เพราะ ใบสำคัญความเห็นแพทย์จะมีอายุการใช้งานพอดีกับวันเข้ารับการตรวจเลือกทหารในช่วงต้นเดือนเมษายนของปีเดียวกันหากไปพบแพทย์ก่อนหน้านั้นทางแพทย์ก็ไม่สามารถออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ให้ได้เพราะยังไม่ถึงเวลาแพทย์ก็จะแนะนำให้มาใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ดี
ทางโรงพยาบาลทั้ง 20 แห่ง ได้กำหนดช่วงเวลานี้สำหรับน้อง ๆ และสำหรับชายที่ป่วยด้วยโรคที่ขัดกับการเป็นทหารได้เข้ามาตรวจเพื่อขอยกเว้นการเป็นทหาร น้องเพียงแต่นำเอกสารทั้ง 3 อย่างไปที่โรงพยาบาลแล้วบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า “ต้องการพบหมอเพื่อขอรับ “ใบรับรองแพทย์” เพื่อเป็นเอกสารประกอบในวันตรวจเลือกทหาร” บอกแค่นี้ทางเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจ เมื่อพบแพทย์เสร็จเรียบร้อย แพทย์ก็จะมอบ “ใบสำคัญความเห็นแพทย์” ไว้เป็นหลักฐาน เก็บไว้ให้ดี อย่าทำหาย รอวันเกณฑ์ทหารในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน
ภาพประกอบจาก www.sanook.com
ขั้นตอนที่ 4 ไปเกณฑ์ทหาร เดือนเมษายน ปี 2558 [สด. 43]
เมื่อถึงวันนัดการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “วันเกณฑ์ทหาร” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนของทุกปี และทางราชการมักใช้วัดเป็นสถานที่ตรวจเลือก ให้ไปตามวัน เวลา สถานที่ที่ระบุใน สด.35 ขั้นตอนนี้ถึงแม้ท่านจะเป็นพระภิกษุ-สามเณร ท่านก็ต้องไปตามนัดเช่นกัน
แนะนำว่าในกรณีที่ท่านกำลังศึกษาอยู่ควรสวมชุดนักศึกษาไปเข้ารับการตรวจเลือก อันนี้เป็นเหตุผลทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เมื่อท่านอยู่ในชุดนักศึกษาที่ดูเรียบร้อย ทางราชการเมื่อเห็นผู้มาติดต่ออยู่ในชุดนักศึกษา ฝ่ายราชการก็ต้องปฏิบัติกับท่านด้วยการให้เกียรติ เพราะเครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องแบบของสถาบันอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกณฑ์ทหารเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพโดยตรง คนที่เป็นกะเทยมักเป็นเป้าสายตาในงานลักษณะนี้ และมีแนวโน้มจะถูกแซวถูกจ้องมองจากกลุ่มคนมากที่สุด หากน้องรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องไปงานแบบนี้การสวมชุดนักศึกษาจึงเป็นเครื่องป้องกันในระดับหนึ่ง แต่หากท่านมีความมั่นใจ การสวมชุดที่ดูสุภาพเรียบร้อยก็เพียงพอแล้ว
หลักฐานที่ท่านต้องนำไปด้วย
1. ใบสำคัญ สด.9
2. ใบสำคัญ สด. 35
3. บัตรประจำตัวประชาชน (สำหรับพระภิกษุ สามเณร คือ บัตรพระหรือหนังสือสุทธิ)
4. ทะเบียนบ้าน
5. ใบสำคัญความเห็นแพทย์ (ที่ไปรับมาจากโรงพยาบาล)
6. หลักฐานการศึกษา (สำหรับพระภิกษุ - สามเณร คือ ใบประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นตรี)
เอกสารทุกชิ้นควรมีการถ่ายสำเนาสำรองไว้กันหาย
เมื่อไปถึงสถานที่นัดหมาย ให้ไปรายงานตัวที่โต๊ะทำการ นำเอกสารที่เตรียมมาทั้งหมดยื่นให้เจ้าหน้าที่เมื่อถึงคิวเรา แล้วรอกระบวนการ จะมีการสัมภาษณ์ การตรวจร่างกาย เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ น้องจะได้รับ ใบสด.43 ซึ่งมีความสำคัญกับน้องไปตลอดชีวิตเพราะใบสำคัญนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าน้องไม่มีพันธะเรื่องการเกณฑ์ทหารแล้ว และเป็นใบที่ใช้ประกอบการสมัครงาน
แต่...
แต่...ใน ใบสำคัญ สด.43 ต้องระบุที่ผลการตรวจเลือกว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” เท่านั้นเพราะในเอกสารราชการขณะนี้ “กะเทยถูกถอดออกจากหมวดโรคจิตแล้ว” กะเทยจึงไม่ควรถูกระบุว่า “เป็นโรคจิตถาวร” หากมีการระบุผิดพลาดควรร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทันที หรือขอคำปรึกษามูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน โทร. 086 – 597 – 4636
ขอย้ำว่า กรณีการระบุว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ในใบ สด. 43 นี้อาจจะยังไม่เป็นที่ทราบกันทั่วทุกหน่วยตรวจเลือกเพราะเป็นเรื่องใหม่ (เพิ่งมีการประกาศให้ใช้สำนวนนี้เมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555) เจ้าหน้าที่บางท่านอาจจะยังไม่ได้ปรับฐานข้อมูลให้ทันสมัย น้อง ๆ ที่เข้าติดต่อในวันตรวจเลือกอาจจะต้องรอบคอบนิดหนึ่ง
น้องอาจจะต้องพิมพ์ภาพข้างล่างต่อไปนี้ติดไปในวันตรวจเลือกไว้เป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบว่ามีการเปลี่ยนสำนวนสำหรับคนที่เป็นกะเทยแล้ว ด้วยการระบุว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” (Gender Identity Disorder) โดยแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ยื่นเอกสารก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเขียนลงในใบ สด.43 ของท่าน
ตัวอย่างใบสำคัญ สด.43 ที่ระบุว่า เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด (Gender Identity Disorder)
ที่มา เว็ปไซต์โพสจัง http://board.postjung.com/759100.html
หรือน้อง ๆ อาจพิมพ์หนังสือสำคัญของทางราชการฉบับนี้ไปด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีการเปลี่ยนสำนวนใหม่เป็น “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด Gender Identity Disorder ”แทนการระบุว่า “เป็นโรคจิต”
หนังสือสำคัญของทางราชการที่ระบุว่ามีการใช้สำนวน “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”
หรือ “Gender Identity Disorder” สำหรับบุคคลที่เป็นกะเทย เพื่อระบุในใบสำคัญ สด.43
ที่มา : http://board.postjung.com/759100.html
ขนาดของร่างกายที่อยู่ในเกณฑ์คัดเลือกให้เป็นทหาร
โดยปกติทางราชการต้องการชายที่มีส่วนสูงตั้งแต่ 160 ซม. ขึ้นไป มีรอบอกตั้งแต่ 76 ซม. ขึ้นไป หากมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ก็ไม่ต้องถูกคัดเลือกให้เป็นทหารหรือมีร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งพิการ ไม่ครบถ้วนก็จะไม่ถูกคัดเลือกให้รับราชการทหาร
แต่สำหรับบางปีทางราชการต้องการบุคคลเข้ารับราชการทหารเป็นจำนวนมาก บุคคลที่สูง 159 ซม. ลงมาจนถึง 146 ซม. และมีรอบอกมากว่า 76 ซม.ขึ้นไปก็จะถูกคัดเลือกให้เป็นทหารเช่นกัน (ในกรณีรอบอกต่ำกว่า 76 ซม. ก็จะได้รับการยกเว้น)
น้องบางคนไปทำอะไรกับร่างกายมาแล้วไม่ต้องขอใบรับรองจากแพทย์ได้หรือไม่ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ถูกเกณฑ์ทหารอยู่ดีเนื่องจากร่างกายไม่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน
น้องบางคนไปทำอะไรกับร่างกายมาแล้ว เช่น ไปผ่าตัดแปลงเพศ หรือไปเสริมหน้าอกมาแล้ว น้องอาจจะคิดว่าถึงยังไงเราคงไม่ถูกเกณฑ์ทหารเพราะไปปรับเปลี่ยนร่างกายมาแล้วทำให้ร่างกายมีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานที่กองทัพต้องการ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปขอ “ใบรับรองแพทย์” จากโรงพยาบาลก็น่าจะได้
ข้อนี้ตอบว่า ทางกองทัพได้เปิดช่องทางขั้นตอนที่ 3 ให้กะเทยหรือสาวประเภทสองมาตรวจเพื่อรับใบรับรองแพทย์ หากน้องไม่ไปตามขั้นตอนที่ 3 ทางกองทัพจะพักเรื่องของน้องไว้แล้วให้น้องไปทำขั้นตอนที่ 3ให้เรียบร้อย แล้วให้น้องกลับมายื่นเรื่องขอยกเว้นในปีถัดไปซึ่งจะทำให้เสียเวลา ดังนั้นปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 3 ดีที่สุด
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทางกองทัพกำหนดขั้นตอนที่ 3 สำหรับกะเทย-สาวประเภทสองก็เพื่อเป็นการป้องกันผู้ชายบางคนแกล้งเป็นกะเทยเพื่อจะได้รับการยกเว้น หากชายคนนั้นไม่ได้เป็นกะเทย ขั้นตอนที่ 3 จะเป็นการตรวจสอบชายคนนั้นไปโดยอัตโนมัติ
ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนสำคัญคร่าว ๆ 4 ขั้นตอนสำหรับน้อง ๆ ที่เป็นกะเทยในการเตรียมตัวก่อนถึงวันตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารส่วนน้อง ๆ ที่เป็นผู้ชาย เป็นพระภิกษุ หรือเป็นสามเณรปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 1, 2 และ 4 ได้ทันทีโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ยกเว้นมีโรคประจำตัวบางอย่างซึ่งอาจเป็นอุปสรรคกับการเป็นทหารต้องไป “ตรวจโรคก่อนการตรวจเลือก” ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
สำหรับหนังสือปกสีชมพูนี้เป็นหนังสือคู่มือกะเทย “เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร” โดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พิมพ์เผยแพร่ให้น้อง ๆ กะเทยเอาไว้ศึกษาเตรียมตัวเข้ารับการตรวจเลือกรับราชการทหารซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าบทความนี้ที่ท่านเพิ่งอ่านจบไป
หากน้อง ๆ ต้องการหนังสือดังกล่าว ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม มีคำถามสงสัย หรือประสบปัญหาขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งใน 4 ข้อข้างต้นสามารถติดต่อ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ทันที
เว็ปไซต์www.thaitga.com
โทร. 086 – 597 – 4636
Email : jtnote@gmail.com
หรือหากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามฝ่ายกองทัพโดยตรงคือ
พันโทปิยะชาติ ประสานนาม
Facebook: P-Psn K. Nhooom
Line : K. Nhoom
Email :piyachart7@gmail.com
สำหรับน้อง ๆ ที่เป็นผู้ชาย พระภิกษุ สามเณร อาจมีตัวเลือกอื่น ๆ เช่น
- ผ่อนผันเพราะเป็นนักศึกษา ให้นำหลักฐานการศึกษาไปแสดง โดยผ่อนผันได้จนถึงอายุ 26 ปี
- ขอยกเว้นเพราะเป็นพระภิกษุ - สามเณรให้นำประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นตรีเป็นหลักฐานนำไปยื่นแสดง จะได้รับการยกเว้นในฐานะนักบวชตลอดชีพของการเป็นนักบวชจนถึงอายุ 29 ปี หากลาสิกขาระหว่างอายุ 21- 29 ปีต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหาร ยกเว้นลาสิกขาเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไปถือว่าพ้นเกณฑ์ตามกฎหมาย เพราะวัยที่อยู่ในวาระการเกณฑ์ทหารคือ 21-29 ปี
- หากร่างกายไม่ได้มาตรฐาน ในใบ สด.43 จะระบุอัตลักษณ์ไปตามลักษณะ เช่น ส่วนสูงไม่ถึง พิการ ฯลฯ
- ในกรณีที่ท่านป่วยด้วยโรคที่ดูจากภายนอกไม่แสดงอาการ ต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์อย่างละเอียด และอาจเป็นอันตรายหากเข้ารับราชการทหาร เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด จะได้รับการยกเว้นโดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 3 เช่นเดียวกับน้องกะเทย คือไป “ตรวจโรคก่อนการตรวจเลือก” ที่โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพ 20 แห่ง แล้วนำผลการตรวจโรคมาแสดงในวันเกณฑ์ทหารเพื่อขอยกเว้นการเป็นทหาร ซึ่งการยกเว้นอาจกระทำได้ปีต่อปีเท่านั้น โดยดูผลการวินิจฉัยของแพทย์ในและปีเป็นเกณฑ์
- หากจบระดับปริญญาตรี / ปวส. อนุปริญญา จับสลากได้ใบแดงเป็นทหาร 1 ปี สมัครเป็น 6 เดือน
- หากจบระดับ ปวช. / ม. 6 จับสลากได้ใบแดงไม่มีลดหย่อนเป็นเต็ม 2 ปี สมัครเป็น 1 ปี
- เรียน ร.ด. (รักษาดินแดน) 3 ปี ไม่ต้องเป็นทหาร
- ในกรณีร่างกายพร้อมใจพร้อม ก็สมัครเป็นทหารได้ทันทีโดยไม่ต้องจับสลากใบดำ – ใบแดง
- ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารได้จากเว็บไซต์ กองการสัสดีหน่วยงานรักษาดินแดน www.sussadee.comเว็บไซต์นี้จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารที่ท่านควรทราบ
ภาพประกอบจาก http://static.tlcdn1.com
ขอให้น้อง ๆ กะเทยและสาวประเภทสองประสบความราบรื่นในการทำเรื่องยกเว้นการเกณฑ์ทหาร
และขอให้กำลังใจชายไทยทุกคนที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหาร หากท่านจับสลากได้ใบดำก็ยินดีด้วย แต่หากจับสลากได้ใบแดงก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ อย่าเพิ่งทุกข์ใจไปกับการต้องไปเป็นทหาร อย่างน้อยก็เป็นทหารเพียงแค่ 2 ปี เราไม่ได้เป็นทหารตลอดชีวิต การเป็นทหารจะฝึกหนักในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นการฝึกก็จะเบาลง มีการเปิดโอกาสให้กลับไปเยี่ยมบ้านได้ มีเงินเดือนให้ มีเพื่อนใหม่ ๆ ที่มาจากหลากหลายภาคของประเทศไทย
ประเทศของเรายังไม่ได้พัฒนาไปถึงขั้นที่การรับราชการทหารเป็นทางเลือกและเป็นอาชีพ แต่เราก็มีความเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ การเกณฑ์ทหารจะถูกยกเลิกและเปลี่ยนจากการเกณฑ์ทหารเป็นการเปิดรับสมัครทหารเป็นอาชีพ มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีให้กับครอบครัว ถึงตอนนั้นเราคงไม่ต้องมีบทความลักษณะนี้มาคอยเตือนอยู่เรื่อย ๆ และคงไม่มีชายไทย กะเทยไทยคนไหน หรือพระภิกษุสามเณรรูปไหนต้องตกเป็นคดีความกันอีกอันเนื่องมาจากพลาดการขึ้นทะเบียนทหารเมื่อตอนอายุ 17 หรือลืมไปรับหมายเกณฑ์เพราะความไม่รู้กฎหมายทำให้ตกเป็นเหยื่อของการเป็นคดีความ “หนีทหาร” ซึ่งความจริงแล้วไม่มีใครอยากหนีทหารเพราะมันทำให้เป็นคดีความติดตัว และทำให้เกิดความยุ่งยากกับชีวิต
ท้ายสุด หลวงพี่มองว่านี่เป็นความรุนแรงของ “ระบบสังคมชายเป็นใหญ่” ที่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้ชายในฐานะความรุนแรงที่มีต่อเพศชายในระดับโครงสร้าง เมื่อผู้ชายที่แข็งแรงที่สุด มีร่างกายสมบูรณ์ที่สุดจะต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ในขณะที่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้อยากเป็นทหารแต่ตกอยู่ในสภาพถูกบังคับ หลายคนไม่ต้องการเป็นทหารเพราะกลัวความยากลำบาก กลัวถูกเจ้านายกลั่นแกล้งในฐานะตนเป็นพลทหาร ไม่อยากจากลูกจากเมียหรือครอบครัว ไป
ปรากฏการณ์นี้เราน่าจะเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าผู้ชายถูกกระทำรุนแรงจากระบบโครงสร้างนี้อย่างไร ในขณะที่บางคนมองว่ากะเทยได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเป็นทหาร แต่พวกเขามองไม่ออกว่าในกรณีเช่นนี้ผู้ชายกำลังถูกกระทำรุนแรงจากระบบโครงสร้างในฐานะเพศสภาพที่เป็นเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายที่อยู่ในสถานะชนชั้นล่างจะถูกกระทำรุนแรงกว่าชายที่อยู่ในสถานะชนชั้นกลางซึ่งมีโอกาสรอดพ้นจากการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารมากกว่าเพราะการใช้ทรัพย์และระดับการศึกษาที่สูงทำให้จำนวนวันที่ต้องเป็นทหารลดลง ในขณะที่ชายชนชั้นล่างไม่มีโอกาสเช่นนั้น.
|