“หนูเป็นผู้หญิง หนูถูกพระไม่ได้นะ ออกมาห่าง ๆ” นั่นเป็นคำสอนที่เด็กผู้หญิงมักได้ยินอยู่เสมอเวลาไปวัดหรือเมื่อผู้ใหญ่พาไปไหว้พระ ไม่มีใครตระหนักรู้ว่าการสอนเด็กผู้หญิงด้วยคำสอนเช่นนี้จะส่งผลกระทบกับตัวตนของเด็กผู้หญิงอย่างไรบ้าง ผู้หญิงหลายคนที่เติบโตมากับคำสอนลักษณะนี้ก็ไม่ทันได้ตระหนักรู้ว่านี่เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง
ที่มาของคำสอน “ผู้หญิงห้ามถูกพระ” มาจากวินัยของภิกษุหมวดอาบัติสังฆาทิเสสข้อ ๒ มีใจความว่า “ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิงต้องสังฆาทิเสส” วินัยข้อนี้ห้ามพระถูกต้องกายหญิง มิได้ห้ามผู้หญิงถูกต้องกายพระ แต่เหตุไฉนผู้หญิงจึงถูกสอนให้ห้ามถูกพระตั้งแต่เยาว์วัยเช่นนั้น เด็กผู้หญิงจะเข้าใจคำสอนนี้หรือ ?
เรื่องนี้ส่งผลเป็นปัญหาด้านบุคลิกภาพที่ซับซ้อนต่อเด็กผู้หญิงตามมาตรงที่เด็กผู้หญิงไม่รู้ว่าเหตุใดเธอจึงถูกตัวพระสงฆ์ไม่ได้ ผู้ใหญ่ก็ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ทุกครั้งที่เด็กผู้หญิงถูกบอกว่า “ห้ามถูกพระ” ผู้ใหญ่เพียงให้เหตุผลสั้น ๆ แค่ว่า “เพราะหนูเป็นผู้หญิง ผู้หญิงถูกพระไม่ได้” ทำให้เด็กเข้าใจไปเองว่าความเป็นหญิงเป็นสิ่งไม่ดี ความเป็นหญิงเป็นสิ่งบกพร่อง เมื่อความเป็นหญิงเป็นสิ่งบกพร่องจึงถูกพระไม่ได้ ดังนั้นการเกิดเป็นเพศหญิงจึงเป็นสิ่งไม่ดี เมื่อความเป็นหญิงเป็นสิ่งไม่ดีจึงนำไปสู่ความรู้สึกไม่ชอบใจหรือไม่รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเพศหญิงของตนตามมา
ในที่สุดเมื่อเด็กผู้หญิงโตขึ้นแล้วพบว่าคณะสงฆ์มีการห้ามบวชหญิงให้เป็นภิกษุณีก็เหมือนกับเป็นการตอกย้ำว่าการเกิดเป็นเพศหญิงมีมลทินจึงไม่สมควรแม้แต่จะห่มผ้าเหลืองทั้ง ๆ ที่การบวชภิกษุณีเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตตั้งแต่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นี่จึงถือเป็นความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในพื้นที่ศาสนาซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น
ภาพจิตกรรมฝาผนังศาลารายรอบพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
แสดงเหตุการณ์พระนางปชาบดีโคตมีนำบริวารสตรีไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอการอุปบทเป็นภิกษุณี
คำสอนอคติต่อเพศหญิงที่ตามมาอีกชุดคือคำสอนว่า “เกิดเป็นหญิงมีกรรม” ในขณะที่คำสอนในพุทธศาสนาเองก็มีคำสอนที่เชิดชูเพศชายว่าการเกิดเป็นเพศชายเป็นเพศภาวะที่ประเสริฐมีความสมบูรณ์สามารถบวชพระและตอบแทนค่าน้ำนมได้ และยังมีคำสอนที่ว่าด้วยการปฏิบัติตนว่าปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะได้เกิดเป็นเพศชายในชาติต่อไปโดยที่รายละเอียดกลับกลายเป็นว่าให้ผู้หญิงปฏิบัติพัดวีผู้ชายเป็นอย่างดี ให้ผู้หญิงสยบยอมผู้ชาย เมื่อนั้นจึงจะได้เกิดเป็นเพศชายสมปรารถนาซึ่งในที่สุดก็เป็นการซ้ำเติมผู้หญิงอยู่ดี
คำสอนถัดมาที่มีอคติต่อเพศหญิงก็คือคำสอนว่า “ผู้หญิงเป็นมารต่อพรหมจรรย์” ทั้ง ๆ ที่มารต่อพรหมจรรย์ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศหญิงเสมอไป เพศไหน ๆ ก็สามารถเป็นมารได้เพียงแค่มีจุดประสงค์ร้ายต่อผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก็ถือเป็นมารได้หมด
ด้วยกระบวนการคำสอนที่จัดวางผู้หญิงให้มีสถานะต่ำกว่าเพศชายเช่นนี้จึงทำให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าในตนเองและคิดว่าการเกิดเป็นเพศหญิงมีคุณค่าน้อยเมื่อเทียบกับการเกิดเป็นเพศชายซึ่งมีคุณค่าและความหมายมากกว่าในหลาย ๆ เรื่อง บ่อยครั้งคำสอนเหล่านี้ได้ทำให้ผู้หญิงรู้สึกแย่ไปกับการเกิดเป็นเพศหญิงของตนเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการเยียวยาความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นผู้หญิงจึงมักจะตั้งจิตอธิษฐานก่อนทำบุญว่า “เกิดชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นผู้ชาย”
จะเห็นได้ว่ากระบวนการคำสอนในพุทธศาสนาที่มีต่อผู้หญิงได้จัดวางและหล่อหลอมให้ผู้หญิงรู้สึกรังเกียจและมีอคติกับความเป็นเพศหญิงในตนเองตั้งแต่เยาว์วัย โดยที่ระบบสังคมในโลกฆราวาสก็คอยตอกย้ำคุณค่าของผู้หญิงด้วยค่านิยมลบ ๆ ตามมา เช่น เกิดเป็นหญิงสืบสกุลไม่ได้ ผู้หญิงเป็นผู้นำไมได้ เป็นผู้หญิงไปไหนต้องระมัดระวังตัว คำพังเพยของไทยก็ไม่เคยยกย่องสนับสนุนผู้หญิงในเชิงบวก เช่น มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน ผู้หญิงข้าวสารผู้ชายข้าวเปลือก เปรียบเปรยผู้หญิงเป็นข้าวสารหากตกพื้นมีแต่จะเสียหายเอาไปใช้ทำอะไรไม่ได้ เปรียบผู้ชายเหมือนข้าวเปลือกหากไปตกที่ไหนมีแต่จะเจริญงอกงามเป็นต้นกล้า
เมื่อคำสอนและวาทกรรมต่าง ๆ ที่มีต่อผู้หญิงเป็นไปในรูปการณ์เช่นนี้จึงเป็นไปได้ยากที่ผู้หญิงสักคนจะรู้สึกภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นเพศหญิง อาจจะมีผู้หญิงบางคนมีสติรู้ตัวขึ้นมาว่าคำสอนและวาทกรรมเหล่านี้เป็นอคติที่ทำร้ายผู้หญิง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามกว่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะแกะเอาอคติต่าง ๆ ที่มีต่อความเป็นเพศหญิงออกไปจากใจตนเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะคำสอนเหล่านี้ได้ซึมซับอยู่ในจิตวิญญาณของผู้หญิงมาช้านานแล้ว ไม่มีอะไรจะรุนแรงและเลวร้ายไปกว่าการที่คน ๆ หนึ่งรู้สึกแย่ไปกับเพศภาวะของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สังคมพุทธเถรวาทกระทำกับผู้หญิงอย่างแนบเนียนมาตลอด
หากเหลียวมองดูวินัยของพระสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายอื่น ๆ เช่น มหายานและวัชรยาน ต่างมีสิกขาบทเรื่อง “ห้ามภิกษุถูกต้องกายหญิงด้วยความกำหนัด” ซึ่งเป็นสิกขาบทเดียวกันกับเถรวาท แต่ทั้งมหายานและวัชรยานต่างทำความเข้าใจกับสิกขาบทข้อนี้ในความหมายใหม่ที่แตกต่างออกไปว่ามนุษย์มิได้มีความกำหนัดตลอดเวลา เช่นเดียวกับพระสงฆ์ก็มิได้มีความกำหนัดตลอดเวลา ดังนั้นภิกษุจึงไม่จำเป็นต้องถูกกายสตรีด้วยความกำหนัดเสมอไป ในวัฒนธรรมของพุทธศาสนาสายมหายานและวัชรยานจึงมิได้รู้สึกอ่อนไหวหากภิกษุถูกต้องกายสตรีในชีวิตประจำวัน อีกทั้งการรับสิ่งของจากสตรีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้ารับประเคน
แม้ภิกษุสายเถรวาทในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ศรีลังกา พม่า กัมพูชา เวียดนาม บังคลาเทศ ต่างก็รับสิ่งของจากมือสตรีโดยตรงซึ่งผิดกับพระสงฆ์ในประเทศไทยต้องใช้ผ้ารับประเคนกับสตรีตลอด ภิกษุสายเถรวาทบางประเทศ เช่น พม่า ก็ถูกกายสตรีได้โดยใช้ความเข้าใจชุดเดียวกันกับภิกษุสายมหายานและวัชรยาน นั่นคือการที่ภิกษุถูกต้องกายหญิงไม่ได้แปลว่าภิกษุมีความกำหนัดเสมอไป
การบวชเป็นสามเณรี-ภิกษุณีทั้งสายมหายานและวัชรยานต่างก็มิได้เป็นเรื่องที่ถูกห้ามหากแต่เป็นสิ่งที่สงฆ์ทั้งนิกายมหายานและวัชรยานต่างยอมรับตามพุทธานุญาตที่มีมานานกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วว่าผู้หญิงก็สามารถบวชเป็นสามเณรี-ภิกษุณีได้ อีกทั้งสงฆ์ในศรีลังกาแม้จะเป็นสายเถรวาทแต่ก็มีความก้าวหน้าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงบวชเป็นสามเณรี-ภิกษุณี จึงถือได้ว่าพุทธศาสนาสายมหายาน วัชรยาน และพุทธศาสนาในศรีลังกาต่างมีพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เหยียบยืนหรือเข้าถึงพุทธธรรมได้อย่างไม่เป็นปัญหา
ทั้งหมดนี้อาตมาเขียนขึ้นเพื่อให้ทุกท่านได้กลับมาทบทวนอย่างมีสติว่าเราตีความคำสอนทางพุทธศาสนาให้เกิดการทำร้ายเพศหญิงอย่างไรบ้าง ซึ่งจะว่าไปทั้งหมดนี้จะถือว่าเป็นความรุนแรงจากคำสอนในพุทธศาสนาก็ไม่เชิงนัก เพราะความรุนแรงที่เกิดต่อผู้หญิงผ่านคำสอนในพุทธศาสนาก็มาจากการตีความคำสอนของพวกเราชาวพุทธที่ไร้เดียงสาต่อมิติของความรุนแรงนั่นเอง และความรุนแรงหลัก ๆ ก็มาจากการตีความคำสอนโดยคณะสงฆ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตีความคำสอนแบบเบ็ดเสร็จเพราะเป็นเพศชายจึงมีอำนาจในการตีความคำสอนอย่างไรก็ได้ ถ้าคำสอนทำให้คนรู้สึกรังเกียจและมีอคติกับตัวเองได้ขนาดนี้ก็ควรมีการตีความคำสอนเสียใหม่
อาตมาผู้เขียนมิได้มีทางออกสำเร็จรูปเพราะไม่เคยเชื่อว่าปัญหาพุทธศาสนาในบ้านเราจะใช้ได้กับทางออกที่สำเร็จรูป แต่อาตมาเชื่อเรื่องการมีโยนิโสมนสิการ การคิดอย่างแยบคาย การใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง อาตมาเชื่อว่าหากชาวพุทธทั้งนักบวชและฆราวาสได้อ่านบทความนี้แล้วใช้วิจารณญาณใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งก็จะพบทางออกว่าเราควรจะจัดการอย่างไรกับการตีความคำสอนผิด ๆ ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นความรุนแรงต่อผู้หญิงเช่นนี้
เมื่อท่านค้นพบทางออกเมื่อไร เมื่อนั้นผู้หญิงก็ได้รับการปลดปล่อยจากความรุนแรงทันที