วันนี้เรามีบุคคล 3 ท่านมาแนะนำให้รู้จัก บางท่านคุณผู้อ่านรู้จักดีอยู่แล้ว บางท่านอาจจะไม่เป็นที่รู้จัก แต่เพศภาวะและเพศวิถีที่ทั้ง 3 ท่านมีเหมือนกันก็คือ เป็นกะเทยที่ใช้ชีวิตอยู่กับผู้หญิง หรือเป็นกะเทยที่ชอบผู้หญิง ทั้งสามท่านมีความเป็นไปมากกว่าแค่กะเทยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ที่ผ่านมา อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ พ่อครัวและพิธีกรชื่อดังได้ออกมาเปิดเผยชีวิตครอบครัวให้ฟังในรายการ Club Friday Show (23 มกราคม 2559) ว่าอาจารย์มาจากครอบครัวชาวจีนจึงถูกคาดหวังจากคุณพ่อว่าต้องมีลูกหลานสืบสกุล สิ่งนี้กดดันและหล่อหลอมอาจารย์มาตั้งแต่เล็กว่าโตขึ้นต้องมีครอบครัวและลูกหลานไว้สืบสกุล ในขณะที่คุณพ่อเป็นคนเกลียดกะเทย ไม่ต้องการให้ลูกชายเรียนทำขนมเพราะจะทำให้ลูกชายกลายเป็นกะเทยในมุมมองของพ่อ
ภาพจากรายการ Club Friday Show
ถึงแม้จะถูกห้ามเรียนทำขนมแต่ในที่สุดหลังจากเรียนจบปริญญาตรีอาจารย์ก็ได้ไปเรียนทำขนมที่สิงคโปร์อันเป็นเหตุให้อาจารย์ได้พบกับ “คุณเมย์” ผู้จัดการโรงเรียนทำขนมชาวสิงคโปร์ คุณเมย์รู้สึกชอบ อ.ยิ่งศักดิ์เพราะเห็นว่าอาจารย์แตกต่างจากผู้ชายคนอื่น ๆ ตรงที่เป็นผู้ชายที่นุ่มนวล สะอาด เรียบร้อย และโรแมนติก
ในมุมมองของ อ.ยิ่งศักดิ์ไม่ได้มองว่านั่นคือความรักแต่รู้ว่าคุณเมย์เป็นคน ๆ เดียวที่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ณ เวลานั้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจนบัดนี้อาจารย์นิยามความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคุณเมย์ว่า “ในวันนี้ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่น่าจะอยู่ได้ คุณเมย์คือคนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุขที่สุด มันเป็นความเข้าใจ”
ปัจจุบัน อ.ยิ่งศักดิ์ใช้ชีวิตคู่กับคุณเมย์มาแล้ว 30 ปี มีบุตรสองคนเป็นชายและหญิง ทั้งคู่โตเป็นผู้ใหญ่เรียนจบปริญญาโททั้งสองคน
สิ่งที่ อ.ยิ่งศักดิ์กังวลคือลูกทั้งสองคนจะรับได้ไหมที่พ่อมีบุคลิกแบบนี้ อาจารย์เปิดใจว่า “พ่อพิการ พ่อปากเบี้ยว พ่อเป็นสันนิบาตชักกระตุกหรือเป็นอะไรก็ตามล้วนเป็นปมด้อยทั้งสิ้น แต่เราอย่าไปมองแล้วโฟกัสที่ปมด้อย เราพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดคือหน้าที่ของเราและความรักที่มีให้ลูก”
“เราไม่ได้เป็นพ่อที่หล่อเหลาดูแมนที่สุดที่ลูกจะภูมิใจ แต่เราอยากให้ลูกรู้ว่าในชีวิตของเขามีพ่อคนนี้รักเขามากที่สุดและไม่มีใครรักเขาได้มากเท่าเรา ... ตลอดเวลาเราจะไม่ทำให้ลูกต้องอายคน เราถึงขยัน ตั้งใจทำงาน สร้างชื่อเสียง ทำทุกอย่าง หน้าที่ของเรา ๆ กล้าพูดได้เลยว่าผู้ชายแมน ๆ ที่เขามีลูกบางคนอาจทำหน้าที่พ่อไม่ดีเท่ายิ่งศักดิ์”
อาจารย์ให้คำแนะนำลูกที่มีพ่อที่แตกต่างว่า “ไม่อยากให้ลูกทุกคนมองในสิ่งที่พ่อขาดและไม่เหมือนคนอื่น แต่อยากให้ลูกมองในสิ่งที่พ่อตัวเองมีและได้รับจากพ่อ แล้วลูกจะรู้ว่าลูกได้รับจากพ่ออย่างล้นเหลือแล้ว”
-------------------------------------------------------------------------
นั่นเป็นเรื่องราวความรักและชีวิตครอบครัวของ อ.ยิ่งศักดิ์ ท่านถัดไปมีชีวิตครอบครัวคล้าย ๆ อ.ยิ่งศักดิ์แต่มีความแตกต่างในรายละเอียด นั่นคือ “คุณลิซ่า” คุณลิซ่าได้เปิดเผยเรื่องราวของเธอผ่านรายการ “ผู้หญิงถึงผู้หญิง” ซึ่งออกอากาศไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
ลิซ่าแนะนำตัวเองว่าเธอเป็น “กะเทยเลสเบี้ยน” เป็นกะเทยที่ชอบผู้หญิง เธอเริ่มต้นเล่าเรื่องราวว่าเธอรู้ตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าเธอมีจิตใจเป็นผู้หญิงในร่างกายของเด็กผู้ชาย เธอชอบเล่นอะไรในแบบที่เด็กผู้หญิงเล่นกัน ไม่ชอบเล่นฟุตบอลไม่ชอบเล่นอะไรแรง ๆ แบบเด็กผู้ชายและไม่ชอบเด็กผู้ชาย พอเธอไปเข้ากับกลุ่มเด็กผู้หญิงก็มักถูกเพื่อนในห้องล้อว่าเป็นกะเทย ลิซ่าไม่อยากถูกล้อว่าเป็นกะเทยและไม่อยากให้ทางบ้านหรือใคร ๆ รู้ว่าเป็นกะเทยจึงหันไปเข้าห้องสมุดแทน ลิซ่าหันไปอ่านหนังสือมีหนังสือเป็นเพื่อน หรือไม่ก็ไปเข้าชมรมให้ความสนใจกับกิจกรรมในโรงเรียน เวลานั้นลิซ่ารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเพราะไม่รู้จะเข้ากับเพื่อนกลุ่มไหนดี ลิซ่ามีเพื่อนสนิทที่เข้าใจ เพียงไม่กี่คน
ลิซ่าใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในวัยเรียนจนกระทั่งเข้ารั้วมหาวิทยาลัยซึ่งตอนนั้นอายุ 18 ก็เริ่มหันมาแต่งตัวให้ดูเป็นผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ไว้ผมยาว สวมเสื้อฟิต ๆ กางเกงนักศึกษารัดรูป แต่ปรากฏว่าเธอแต่งออกมาแล้วดูไม่สวยไม่เข้ากับรูปลักษณ์ที่ยังมีความเป็นผู้ชายก็เลยเปลี่ยนตัวเองให้ดูแมน ๆ ไปเลย เธอจึงหันไปเล่นกล้ามแล้วปิดบังตัวตนภายในไม่ให้ใครรู้อีกเลยว่าเป็นกะเทย
หลังจากจบปริญญาตรี ลิซ่าอายุครบ 21 ปี ก็ไปบวชพระเป็นเวลา 45 วัน ต่อจากนั้นลิซ่าก็ไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ 1 ปีตามกฎหมายที่ชายไทยต้องเป็นทหาร หลังจากปลดจากทหารลิซ่าไปทำงานเป็นหนุ่มออฟฟิศในบริษัทแห่งหนึ่ง ที่นั่นลิซ่าได้พบกับพนักงานออฟฟิศสุภาพสตรีท่านหนึ่งดูดี เก่ง สง่า เพอร์เฟ็ค ลิซ่าตกหลุมรักอยากรู้จักอยากมีชีวิตร่วมกับเธอก็เลยจีบเธอคนนั้นจนกลายมาเป็นแฟนกัน ระหว่างนั้นฝ่ายหญิงสงสัยระแคะระคายจึงถามลิซ่าตรง ๆ ว่าเป็นเกย์หรือกะเทย เวลานั้นลิซ่าเลี่ยงตอบไปว่าเราเป็นผู้ชายเรียบร้อย ในที่สุดทั้งคู่ก็แต่งงานกัน
หลังจากแต่งงานได้ไม่นานลิซ่าก็ลาออกจากการเป็นพนักงานออฟฟิศแล้วหันไปสมัครสอบรับราชการเป็นทหารอากาศ ในเวลาเดียวกันชีวิตคู่ผ่านไป 1 ปีภริยาตั้งครรภ์ให้กำเนิดทารกเป็นผู้หญิงหนึ่งคน ชีวิตการเป็นทหารของลิซ่าผ่านไปเกือบ 3 ปี มีปัญหาบางประการเข้ามานั่นคือมีทัศนคติที่ไม่ตรงกันกับผู้บังคับบัญชาจึงทำให้ลิซ่าตัดสินใจลาออกจากการเป็นทหาร การลาออกจากทหารของลิซ่าในครั้งนั้นเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้ลิซ่าตัดสินใจเป็นตัวของตัวเองเป็นลำดับถัดมา
ลิซ่าตอนเป็นทหารอากาศ / ลิซ่าในปัจจุบัน
(ภาพจากเว็บเพจ "ผู้หญิงถึงผู้หญิง")
ลิซ่าให้สัมภาษณ์ว่าหากไม่มีความขัดแย้งในงานราชการที่ทำอยู่ลิซ่าก็สามารถเป็นทหารแมน ๆ ต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่รู้สึกติดขัดอะไร เมื่อออกจากราชการทหารลิซ่าก็ไปเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ระหว่างนั้นลิซ่าก็มีความคิดเข้ามาในห้วงคำนึงว่าลิซ่าควรเป็นตัวของตัวเองได้แล้วเพราะทหารก็เป็นมาแล้ว แต่งงานมีครอบครัวมีลูกก็มีมาแล้ว บวชเป็นพระก็บวชมาแล้ว ทำทุกอย่างที่ผู้ชายทำมาหมดแล้ว ที่เหลือคือการได้เป็นตัวของตัวเองโดยลิซ่ายังคงมีครอบครัวและยังคงรับผิดชอบครอบครัวอยู่
เมื่อคิดได้ดังนั้นลิซ่าจึงตัดสินใจบอกคุณพ่อคุณแม่ตามตรงว่าลิซ่าต้องการเป็นตัวของตัวเองซึ่งท่านทั้งสองก็ไม่ปฏิเสธ
ในส่วนของภริยาเมื่อทราบความจริงก็ช็อค และเสียความรู้สึกว่าทำไมไม่บอกเธอตั้งแต่แรก ลิซ่าตอบภริยาว่าตนเอง "เสียใจ" และ "ขอโทษ" ที่ปฏิเสธความจริงกับภริยาตั้งแต่ต้นและต้องหลอกตัวเองมานาน แต่ภริยาก็ทำใจไม่ได้ ในที่สุดทั้งคู่ก็ไม่ปริปากพูดคุยกันอีกเลยแม้จะอยู่ภายในบ้านหลังเดียวกัน ภริยาได้แต่รำพึงว่าคิดถึงสามีที่เคยแต่งงานด้วย ลิซ่าให้สัมภาษณ์ว่า “อยากบอกภริยาว่า ฉันคือเขา เขาคือฉัน เราคือคน ๆ เดียวกัน”
จากนั้นลิซ่าเริ่มเทคฮอร์โมน กล้ามเนื้อแบบผู้ชายก็ค่อย ๆ หายไป เริ่มมีเอว มีหน้าอก สะโพก ผิวและผมก็ดูดีขึ้น ในส่วนของลูกภริยาบอกเสมอว่ากลัวลูกอาย กลัวลูกมีปมด้อย กลัวสังคมไม่ยอมรับ ในส่วนของลิซ่าเธอไม่เคยกังวลว่าลูกจะไม่ยอมรับเพราะเชื่อมั่นว่าลูกยอมรับเธอได้แน่นอน ลิซ่าให้เหตุผลว่านี่คือลูกเรา ลูกเราย่อมเข้าใจเรา เราให้ความสำคัญกับลูก วิธีการของลิซ่าคือเธอยังคงทำหน้าที่พ่อด้วยการใกล้ชิดกับลูก อาบน้ำให้ลูก สระผมให้ลูก เล่านิทานให้ลูกฟัง เอาใจใส่ลูก เล่นกับลูก ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิด นี่เป็นวิธีการที่ทำให้สายใยระหว่างพ่อกับลูกผูกพันกัน
ปัจจุบันลูกสาวอายุ 4 ขวบ ลูกเห็นความเปลี่ยนแปลงของป่าป๊าจากผู้ชายกลายมาเป็นผู้หญิง วันหนึ่งลูกสาวถามลิซ่าว่า "ป่าป๊าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง" ลิซ่าตอบลูกสาววัย 4 ขวบว่า "ป่าป๊าเป็นผู้ชายจ้ะ" แล้วลูกสาวก็ไม่ถามอะไรป่าป๊าต่อ
ปัจจุบันลิซ่าอายุ 30 ปี เป็นพนักงานบริษัทจำหน่ายเครื่องดนตรีแห่งหนึ่ง ลิซ่ากับภริยาหันกลับมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันหลังจากไม่ได้พูดคุยกันเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งคู่ยังคงอยู่บ้านหลังเดียวกันและทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดีให้กับลูกต่อไป
----------------------------------------------------------------------------
ท่านสุดท้ายเป็น “กะเทยเลสเบี้ยน” ที่ออกมาเปิดตัวกับสังคมเป็นคนแรกเมื่อปีที่แล้วว่าเป็น “กะเทยที่รักหญิง” เธอชื่อ ปิยะธร สุวรรณวาสี หรือ “แมว” ปัจจุบันอายุ 25 ปี ทำงานด้านแปลเอกสาร
“แมว” เล่าให้ฟังว่าตอนอายุ 5 ขวบ เธอกำลังนั่งเล่นของเล่นอยู่ดี ๆ ก็เอามือจับตัวแล้วแปลกใจตัวเองว่า “ทำไมเราจึงอยากเป็นผู้หญิง แล้วทำไมเรารู้สึกชอบผู้หญิงได้ด้วย” ตอนนั้นแมวรู้สึกดีกับเด็กผู้หญิงเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่อยู่ถัดไปซึ่งแมวยังคงแปลกใจตัวเอง ถ้าแมวพูดเรื่องนี้ให้ใครฟังคงไม่มีใครเชื่อว่าเธอรู้สึกว่าตัวเธอเป็นผู้หญิงและก็รู้สึกดีกับผู้หญิงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แมวจึงปิดเรื่องนี้เป็นความลับและคิดว่าจะเปิดเผยมันเมื่อโตขึ้น
และเมื่อแมวโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 20 ปี เธอก็ทำอย่างที่คิดไว้ แมวเปิดตัวกับแม่เป็นคนแรก “แม่ครับ ... ผมอยากเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงครับ ไม่ใช่ผู้ชายที่ชอบผู้หญิง” ส่วนพ่อรู้หลังจากนั้นราวๆ สามเดือน แม้เหตุการณ์จะผ่านมา 5 ปีแล้ว แต่พ่อและแม่ก็ยังคงคิดและหวังว่าสักวันหนึ่งลูกจะหายจากการเป็นกะเทย
หากย้อนเวลากลับไปตั้งแต่แมวอายุ 20 ปีลงมาก่อนจะเปิดตัว แมวมีรูปลักษณ์และการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร ?
แมวไม่ได้เป็นแมวเหมือนทุกวันนี้ เพราะเป็นเรื่องยากซ้อน 2 เลยทีเดียว เมื่อแมวเป็นกะเทยในซ้อนที่หนึ่ง ส่วนซ้อนที่สองคือชอบผู้หญิง ดังนั้น แมวจึงเป็นกะเทยที่ไม่ได้ชอบผู้ชายเหมือนกะเทยคนอื่น ๆ อย่างที่เกริ่นไว้
ปิยะธร สุวรรณวาสี ภาพจาก มติชนออนไลน์
ย้อนกลับไปตอนเป็นวัยรุ่น พ่อพูดให้แมวได้ยินอยู่เสมอว่า “ถ้าพ่อรู้ว่าลูกเป็นตุ๊ดจะเตะเข้าให้” เป็นคำพูดของพ่อที่ทำร้ายจิตใจแมวมาตลอดแต่แมวก็เก็บมันไว้ แมวโตมาแบบผู้ชายเพราะต้องเก็บเอาความเป็นกะเทยเอาไว้ข้างในแล้วทำตัวแมน ๆ ออกมาเพื่อไม่ให้พ่อรู้ มันกลายเป็นนิสัยผู้ชายที่ติดตัวแมวมาจนบัดนี้ ในใจก็คอยบอกตัวเองว่าอยากทำในสิ่งที่เป็นผู้หญิงมากกว่านี้ อยากมีกิริยาเหมือนผู้หญิงมากกว่านี้ เสียงก็อยากให้นุ่มนวลกว่านี้ แต่ยิ่งพยายามทำให้เหมือนผู้หญิงมากเท่าไรก็ยิ่งห่างไกลความเป็นตัวเองมากขึ้นเท่านั้น เหมือนฝืนเป็นคนอื่น ถ้าคิดจะเป็นตัวเราก็ต้องเป็นในแบบฉบับของตัวเราเองไม่ใช่ไปก็อปปี้ใครเขามา แมวจึงเป็นกะเทยห้าว ๆ ที่เรียกตัวเองว่า "ผม" มีหางเสียงว่า “ครับ” ในบางครั้ง ชอบสะสมเสื้อฟุตบอลและยังชอบดูบอลเป็นชีวิตจิตใจ
ตอนอยู่ชั้นมัธยมแมวมีเพื่อนประมาณ 10 คนที่ทราบว่าแมวเป็นกะเทย นั่นหมายความว่าเพื่อนส่วนใหญ่คิดว่าแมวเป็นเด็กผู้ชายวัยรุ่นหัวเกรียนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง
เมื่อขึ้นปี 2 อายุ 19 แมวหันมาแต่งหญิงแบบแอบ ๆ แต่งแบบแอบ ๆ คือไปแต่งหญิงนอกบ้าน เช่น ไปแต่งที่มหาวิทยาลัย ไม่สามารถแต่งจากในบ้านได้ จนอายุ 24 แมวเริ่มแต่งหญิงในบ้านอย่างเปิดเผยและเริ่มเทคฮอร์โมน แมวตั้งเป้าไว้ว่ายังไง ๆ ต้องเปิดตัวให้ได้ภายในอายุ 25 นั่นเป็นแผนที่แมววางไว้ตั้งแต่ 5 ขวบ
และแล้วสิ่งที่แมววางแผนไว้ก็เป็นจริง อายุ 20 เปิดตัวกับพ่อแม่จนรู้กันไปหมดทั้งบ้าน อายุ 24 เปิดตัวต่อสาธารณะรู้กันไปหมดทั้งประเทศไทยว่า “ปิยะธรเป็นกะเทยเลสเบี้ยน” ในปีที่ผ่านมา
สื่อหลายสำนักเชิญแมวไปสัมภาษณ์ ทำสกู๊ปข่าว ทำให้เรื่องราวของ “ปิยะธร-กะเทยเลสเบี้ยน” กลายเป็นประเด็นเรื่องเพศที่แปลกใหม่ ผู้คนเริ่มรู้จักและให้ความสนใจ มีผลให้ “กลุ่มกะเทยที่ชอบผู้ชาย” รู้สึกไม่พอใจที่มี “กะเทยชอบผู้หญิง” เกิดขึ้น “กลุ่มกะเทยที่ชอบผู้ชาย” นำเรื่องราวของแมวไปตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเสีย ๆ หาย ๆ ในสังคมออนไลน์ว่าวิปริตซ้ำซ้อนบ้างเสื่อมเสียสถาบันกะเทยบ้าง ฯลฯ เวลานั้นแมวรู้สึกโกรธและน้อยใจ แต่ก็พยายามนิ่งไม่โต้ตอบ
ณ วันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป แมวบอกว่าเหมือนกับเราได้เรียนรู้ผ่านกาลเวลามากขึ้นว่าประเด็นเรื่องกะเทยเลสเบี้ยนเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และมนุษย์ยังเข้าใจผิดว่าถ้า “เพศสภาพ” เป็นอย่างไร “วิถีทางเพศ” ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่มันไม่แน่นอนเสมอไปว่าต้องเป็นเช่นนั้น
แมวไม่ได้มีวาระการตั้งกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวอะไร แมวมีเพียงกลุ่มเพื่อนกะเทยที่เป็นเลสเบี้ยนซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 8 คน และกะเทยไบเซ็กช่วล 1 คน อย่างน้อยการออกมาเปิดตัวของแมวก็ทำให้กะเทยเลสเบี้ยนคนอื่น ๆ ได้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
----------------------------------------------------------------
หลังจากที่อ่านเรื่องราวของบุคคลทั้ง 3 ท่านไปแล้ว มีประเด็นที่ชวนให้คุณผู้อ่านร่วมครุ่นคิดไปด้วย 7 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 กะเทยรักผู้หญิง “สิ่งที่เป็นไปได้”
การมีตัวตนทางเพศเป็นกะเทยไม่ได้หมายความว่าต้องชอบผู้ชายเสมอไป “ความพึงพอใจทางเพศ” (ชอบชายหรือหญิง) ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตาม “ตัวตนทางเพศ” ก็ได้ ดังนั้น กะเทยรักผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
กรณีของ อ.ยิ่งศักดิ์อาจจะแตกต่างจากลิซ่าตรงที่ความพึงพอใจทางเพศของ อ.ยิ่งศักดิ์ไม่ได้เหมือนกับของคุณลิซ่าซึ่งชอบผู้หญิง แต่ความรักที่ อ.ยิ่งศักดิ์มีต่อภริยาซึ่งเกิดขึ้นหลังจากใช้ชีวิตร่วมกันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ความรักใคร่ความพึงพอใจเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่
ผู้หญิงบางคนไม่ได้ชอบผู้ชายแมน ๆ แต่ชอบผู้ชายอ่อนหวาน คุณเมย์ก็ชอบ อ.ยิ่งศักดิ์ตรงที่เป็นผู้ชายอ่อนหวาน นุ่มนวล
ถึงแม้ อ.ยิ่งศักดิ์จะยอมตามรูปแบบของสังคมด้วยการแต่งงานใช้ชีวิตคู่กับผู้หญิงแทนที่จะใช้ชีวิตคู่กับเพศวิถีที่อาจารย์พึงพอใจก็ถือเป็นการเคารพการตัดสินใจของอาจารย์ เพราะชีวิตของใครไม่มีใครออกแบบได้นอกจากตนเองจะออกแบบชีวิตตนเอง ทุกคนมีชีวิตที่ต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง และค้นหาความพึงพอใจที่เหมาะสมของตนเอง
“การข้ามเพศของแต่ละคนมีหลายระดับ” บางคนข้ามเพียงแค่การแต่งกาย บางคนข้ามเพศวิถี บางคนข้ามไปจนสุดคือผ่าตัดแปลงเพศไปเลย บางคนข้ามเพศไปแล้วก็ไปรักกับ “เพศเดียวกัน” ที่ตนเองเป็น
กรณีของ อ.ยิ่งศักดิ์อาจจะเรียกได้ว่าข้ามกรอบสังคมที่มองว่ากะเทยต้องอยู่กินกับผู้ชายซึ่ง อ.ยิ่งศักดิ์เล่าว่าก่อนแต่งงานกับคุณเมย์มีเพื่อนมากระซิบเช่นกันว่าจะดีหรือแต่งงานกับผู้หญิงเพราะคิดว่า อ.ยิ่งศักดิ์กำลังหลอกลวงคุณเมย์
ประเด็นที่ 2 ทำขนม ทำกับข้าว เย็บปักถักร้อย ใคร ๆ ก็ทำได้ไม่เฉพาะเพศหญิง
เราควรเปลี่ยนความคิดกันใหม่ว่างานบ้านการเรือน ทำกับข้าว เย็บปักถักร้อย ทำขนม ใคร ๆ ก็ทำได้ งานบ้านการเรือนไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหญิง เพศชายก็สามารถทำได้ เราควรหันมาตั้งคำถามกันใหม่ว่าการงานต่าง ๆ มันมีเพศสภาพจริงหรือ ? หรือสังคมและตัวเราคิดกันไปเองว่าการงานมีเพศสภาพของมันที่ต้องถูกจับคู่กับเพศสภาพว่างานนี้สำหรับเพศหญิง งานนั้นสำหรับเพศชาย งานโน้นสำหรับกะเทย ?
เพราะเราคิดว่าการงานมีเพศสภาพ พอผู้ชายไปเรียนเย็บปักถักร้อยหรือไปเรียนทำขนมเราก็กลัวว่าเขาจะกลายเป็นเกย์กะเทย กลายเป็นว่านอกจากเราจะจำกัดงานบ้านการเรือนให้กับเพศหญิงแล้วเรายังหวาดกลัวคนเป็นกะเทยอีกต่างหาก
เราไม่ควรจำกัดงานบ้านการเรือนไว้กับเพศใดเพศหนึ่ง และไม่ควรรังเกียจว่าใครจะเป็นกะเทย การเป็นกะเทยไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ประเด็นที่ 3 พ่อกะเทยกังวลเรื่องลูกและสังคมจะไม่ยอมรับ “พ่อเป็นกะเทย”
สิ่งที่พ่อกะเทยกังวลคือความกลัวว่าลูกจะไม่ยอมรับในสิ่งที่พ่อเป็น หรือกลัวลูกจะอายที่พ่อเป็นกะเทย หรือกลัวลูกมีปมด้อยที่พ่อเป็นกะเทย อ.ยิ่งศักดิ์และคุณลิซ่ามีความแตกต่างกัน อาจเป็นเพราะยุคสมัยของ อ.ยิ่งศักดิ์กะเทยยังไม่ได้รับความเข้าใจเหมือนสมัยนี้อาจารย์จึงรู้สึกกังวลใจ ในขณะที่ลิซ่าไม่ได้รู้สึกกังวลเพราะมั่นใจว่าลูกยอมรับได้แน่นอน
การที่ลูกจะยอมรับพ่อกะเทยได้หรือไม่เป็นเรื่องของการให้ความอบอุ่นหรือการปฏิบัติต่อลูก จะเห็นว่าในที่สุดลูก ๆ ของ อ.ยิ่งศักดิ์มิได้มีปัญหากับพ่อที่เป็นกะเทย มีการเปิดตัวออกสื่ออย่างเป็นทางการ ในสังคมออนไลน์ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ในทางรุนแรงเสียหาย แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า อ.ยิ่งศักดิ์อยู่ในชนชั้นระดับไหน (Class)อาจารย์เป็นคนมีชื่อเสียง ส่วนลูกทั้งสองคนก็จบปริญญาโทซึ่งจัดอยู่ในระดับการศึกษาที่สูง ดังนั้นชนชั้นและการศึกษาทำให้การยอมรับต่อเรื่องนี้ของสังคมไทยเป็นไปได้ไม่ยากนัก
ทั้ง อ.ยิ่งศักดิ์และคุณลิซ่า ต่างก็มี “ความรัก” คือ การดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างดี และมอบความรักให้อย่างเต็มหัวใจ สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกรักและเข้าใจพ่อโดยไม่สนใจว่าพ่อจะมีเพศสภาพเป็นอย่างไร
บางทีเรื่องลูกไม่ยอมรับพ่อเป็นกะเทยอาจเป็นเรื่องที่สังคมคิดและวิตกจริตกันไปเองมากกว่า
ประเด็นที่ 4 “พ่อกะเทย” ถูกกดดันว่าต้องเป็นพ่อที่ดีทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบกว่าพ่อทั่วไป
ข้อนี้เป็นผลมาจาก ประเด็นที่ 3 คือ เมื่อเราคิดว่าสังคมไม่ยอมรับพ่อกะเทย พ่อกะเทยก็ต้องทำตัวเป็นพ่อที่ดีมีคุณภาพและอาจจะต้องมีคุณภาพ “มากกว่าปกติ” เพราะการเป็นกะเทยเหมือนกับถูกสังคมตีตราไปแล้วว่าเป็นเพศที่ไม่ปกติ เมื่อเป็นเพศที่ไม่ปกติก็ต้องพยายามทำตัวเองให้มีคุณภาพเทียบเท่าหรือมากกว่าพ่อทั่ว ๆ ไป เหมือนอย่างที่ อ.ยิ่งศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า “เราต้องขยัน ตั้งใจทำงาน สร้างชื่อเสียง ทำทุกอย่าง หน้าที่ของเรา ๆ กล้าพูดได้เลยว่าผู้ชายแมน ๆ ที่เขามีลูกบางคนอาจทำหน้าที่พ่อไม่ดีเท่ายิ่งศักดิ์”
โดยปกติแล้วการเป็นพ่อแม่ก็ต้องลำบากตรากตรำเพื่อลูกอยู่แล้ว แต่การเป็นพ่อกะเทยอาจเป็น“เส้นฟางแสนหนัก” อีกเส้นหนึ่ง ที่ทำให้พ่อกะเทยรู้สึกว่าตนเองต้องทำอะไรเป็น “สองเท่า” จากปกติเพื่อให้สังคมยอมรับ ทำไมจึงมีความคิดลักษณะนี้เกิดขึ้นกับพ่อที่เป็นกะเทย
จะเป็นไปได้หรือไม่ที่พ่อกะเทยก็สามารถเลี้ยงดูลูกไปตามปกติ ไม่ต้องกดดันตัวเองให้ลำบาก ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร กรณีของ “ลิซ่า” ถือเป็นกรณีศึกษาของการเลี้ยงลูกด้วยความไม่กดดัน สังเกตจากคำให้สัมภาษณ์ของลิซ่าว่า ลิซ่าไม่ได้กังวลว่าลูกจะไม่ยอมรับเธอ เพราะลิซ่าเชื่อมั่นว่าการใกล้ชิดลูกเอาใจใส่ลูกจะทำให้ลูกอบอุ่นและเป็นวิธีการสร้างสายใยระหว่างพ่อกับลูกที่ดีโดยไม่เกี่ยวว่าพ่อจะเป็นเพศอะไร
สิ่งที่ลิซ่ากังวลกลับเป็นเรื่องสังคมไม่ยอมรับมากกว่า แต่เรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลใจอีกต่อไปเพราะการออกมาเปิดตัวของลิซ่าต่อสื่ออย่างน้อยก็ถือเป็นการให้การศึกษา (Education) กับสังคม
บางทีความกังวลว่าลูกจะไม่ยอมรับพ่อกะเทย ลูกจะมีปัญหา ลูกจะถูกสังคมรังเกียจ เป็นสิ่งที่พ่อกะเทยคิดและกังวลไปเองหรือไม่ ? รวมทั้งเป็น “อวิชชา” หรือ “ความไม่รู้” ของสังคม เมื่อสังคม “ไม่รู้” การออกมาเปิดตัวของทั้ง 3 ท่านก็ถือว่าเป็นการให้ “ปัญญา” กับสังคมวิธีหนึ่ง
สรุปว่าความกังวลว่าสังคมจะไม่ยอมรับเด็ก ๆ ที่มี “พ่อเป็นกะเทย” อาจเป็นแค่ความวิตกจริตที่คิดกันไปเองก็ได้
ประเด็นที่ 5 เด็กกะเทยเผชิญสิ่งเดียวกันกับที่พ่อกะเทยต้องเผชิญ
มีความละม้ายคล้ายคลึงกันระหว่างกรณี ‘เด็กที่เป็นกะเทย’ กับ ‘พ่อที่เป็นกะเทย’ เด็กกะเทยกลัวพ่อแม่ไม่ยอมรับฉันใด พ่อกะเทยก็กลัวลูกไม่ยอมรับฉันนั้น เด็กกะเทยต้องทำดีเป็นสองเท่าจากปกติ ต้องเรียนให้เก่ง ทำอะไรต้องเป็นที่หนึ่งฉันใด พ่อกะเทยก็ต้องเป็นพ่อที่ดีถึงสองเท่า ต้องประสบความสำเร็จเพื่อลูกจะได้ไม่อับอายชาวบ้าน ต้องมีชื่อเสียง หรืออย่างน้อยต้องถีบตัวให้มีฐานะการเงินที่ดีเพื่อสนับสนุนให้ลูกได้มีหน้ามีตาฉันนั้น
ความสำเร็จของกะเทยเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมานานว่ามาจากความกดดันของสังคมที่มีต่อกะเทยหรือเปล่า จึงส่งผลให้พวกเขาต้องทำตัวเองให้เก่งจนประสบความสำเร็จเพื่อให้สังคมยอมรับ ทั้งนี้ทำให้เกิดทัศนคติที่ว่า “กะเทยทำงานเก่ง กะเทยมีพรสวรรค์ในการทำงาน”
จึงเป็นเรื่องที่ชวนตั้งคำถามว่าตกลงกะเทยมีพรสวรรค์จริง ๆ หรือเป็นเพราะสังคมสร้างความกดดันให้พวกเขาต้องกัดฟันจนกลายเป็นคนเก่งมีพรสวรรค์กันแน่ ?
ในที่สุดเด็กกะเทยกับพ่อกะเทยอาจเป็นคน ๆ เดียวกันก็ได้ หมายความว่าตอนเป็นเด็กก็ต้องทำตัวให้พ่อแม่ยอมรับด้วยการเรียนให้เก่งและสร้างสรรค์ในทุก ๆ ด้าน พอโตขึ้นมีครอบครัวมีภริยามีลูกก็ต้องทำเพื่อลูกเป็นสองเท่า คือ ทำให้ลูกยอมรับให้ได้แล้วยังต้องทำให้สังคมยอมรับ ต้องเป็นพ่อที่ดีและประสบความสำเร็จ
จะเห็นได้ว่าปัญหาไม่ได้มาจากไหน แต่ปัญหามาจาก “มุมมองของสังคม” ที่มีต่อกะเทยนั่นเอง ถ้าสังคมเข้าใจ ให้การยอมรับ ไม่ไปสะกิด “ความเป็นกะเทย” ให้เกิดความแตกต่าง กะเทยก็คงไม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและความกดดันในชีวิตเช่นนั้น เพราะความเป็นจริงก็คือกะเทยไม่ได้เก่งกันไปหมดทุกคน เรายังมีกะเทยที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเลยในชีวิต และยังมีกะเทยที่ไม่เก่งไปหมดทุกด้าน
เรามาช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อกะเทยไปสู่ความเข้าใจและยอมรับกะเทย เพื่อช่วยแบ่งเบาความกดดันของกะเทย พวกเขาจะได้ไม่ต้องเหนื่อยตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งโตเป็นพ่อคนกันดีกว่า โดยเริ่มต้นเปลี่ยนมุมมองของตัวเราก่อนเป็นอันดับแรก
ประเด็นที่ 6 กะเทยทุกคนผ่านการเปิดตัวที่ไม่ง่าย
มิใช่ว่าการเปิดตัวตนว่าเป็นกะเทยจะกระทำกันได้ง่าย ๆ อย่างน้อยกะเทยต้องผ่านการปิดบังตัวตนกันมาทุกคน ไม่ใช่กะเทยทุกคนจะสามารถแต่งหญิงได้ตามใจชอบทุกเวลาทุกโอกาส All Day All Time
สิ่งที่ทั้ง 3 ท่าน อ.ยิ่งศักดิ์ ลิซ่า และแมว มีเหมือนกันก็คือการปิดบังซ่อนเร้นในช่วงแรกของชีวิต อ.ยิ่งศักดิ์ต้องปิดบังคุณพ่อเรื่องทำขนม คุณพ่อไม่ชอบให้ลูกชายเรียนทำขนมเพราะการทำขนมเป็นเรื่องของผู้หญิงจะทำให้ลูกชายเป็นกะเทย อ.ยิ่งศักดิ์จึงต้องแอบทำขนมตอนที่คุณพ่อนอนหลับ แต่ในที่สุด อ.ยิ่งศักดิ์ก็กลายเป็นพ่อครัวและช่างทำขนมที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ถึงอย่างไรพ่อก็หลีกเลี่ยงการเป็นกะเทยของลูกชายไม่ได้ อ.ยิ่งศักดิ์มีบุคลิกที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าแตกต่างจากผู้ชายทั่วไปอย่างไร
ลิซ่าต้องปิดบังตัวตนตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ การปิดบังตัวตนของลิซ่าเป็นถึงขนาดอยากเล่นกับผู้หญิงแต่ก็ต้องห้ามตัวเองไม่ไปเล่นกับผู้หญิง เพราะกลัวคนจะรู้ว่าเป็นกะเทย ลิซ่าจึงมีหนังสือเป็นเพื่อน เมื่อเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยอยากแต่งกายอารมณ์หญิงแต่ก็ต้องเบรคตัวเองเพราะแต่งออกมาแล้วไม่สวย จนกระทั่งมีลูกหนึ่งคนจึงตัดสินใจเป็นตัวของตัวเอง
แมวปิยะธรก็เช่นกัน กว่าจะได้แต่งหญิงก็ต้องรอจนอายุ 19 แต่ก็ต้องไปแต่งนอกบ้านแบบแอบ ๆ กว่าแมวจะได้แต่งหญิงจริง ๆ ก็คืออายุ 24
ไม่ใช่ว่าบุคคลทั้ง 3 ท่านจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างง่ายดาย กะเทยที่เราเห็นว่าเขาสามารถแต่งหญิงได้ตลอด 24 ชั่วโมงนั้นเขาก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะ ยังมีกะเทยอีกหลายคนที่ยังต้องออกมาแต่งหญิงนอกบ้าน จะกลับบ้านแต่ละครั้งก็ต้องเปลี่ยนชุดก่อนเข้าบ้าน บางคนไม่มีโอกาสแต่งหญิงเลย บางทีผู้ชายผมเกรียนในชุดทหารที่เดินผ่านเราไปเมื่อกี้เขาอาจเป็นกะเทยที่ไม่มีทางเลือกในการแต่งหญิงก็ได้
เราควรหันมาชื่นชมพวกเขาที่กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าที่จะแต่งตัวในแบบที่ตัวเองเป็น
หากคุณเป็นคนใกล้ชิด เป็นคนในครอบครัว คุณควรสนับสนุนพวกเขา อย่าปล่อยให้พวกเขาเดินอยู่เพียงลำพัง
ถ้าคุณเป็นเพื่อน คุณควรมีคำพูดที่ให้กำลังใจเพื่อน ไม่ตั้งคำถามที่ทำให้เพื่อนเกิดการชะงักเมื่อเพื่อนต้องการเป็นตัวของตัวเอง แค่นี้ก็ถือว่าคุณเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับเขา
ประเด็นที่ 7 เครื่องแบบนักเรียนปิดโอกาสความเป็นตัวตนของนักเรียนกะเทย
เครื่องแบบนักเรียนเป็นปัญหาต่อเพศสภาพของเด็ก ๆ ที่เป็นกะเทยอย่างสูง
กว่าลิซ่าและแมวจะมีโอกาสเลือกเป็นตัวของตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเข้าสู่การเรียนระดับอุดมศึกษาซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ไว้ผมยาวและให้โอกาสการแต่งกายที่เป็นอิสระมากขึ้น
หากโรงเรียนมัธยมไทยมีทางเลือกให้เด็กไม่จำเป็นต้องสวมเครื่องแบบไปโรงเรียน ลดความเคร่งครัดต่อเรื่องทรงผม ก็จะทำให้เด็กที่เป็นกะเทยอย่างลิซ่าหรือแมวมีโอกาสต่อการตัดสินใจเลือกการแสดงออกทางเพศสภาพผ่านการแต่งกายที่เร็วขึ้น ไม่ต้องรอจนเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งล่าช้าเกินไป
พวกเขาควรมีโอกาสเลือกแสดงออกตัวตนทางเพศสภาพผ่านเนื้อตัวร่างกายตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เพราะนี่ถือเป็นพัฒนาการในเรื่องตัวตนที่พวกเขาควรมีโอกาสเข้าไปสำรวจตรวจสอบความเป็นตัวเอง
การปล่อยให้พวกเขาสำรวจตัวตนในวัยที่โตจนเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วกลายเป็นความล่าช้าต่อพัฒนาการความเป็นตัวตนของคนที่เป็นกะเทยไปอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น
---------------------------------------------------------------
จากนี้ไปประเด็นเพศวิถีของมนุษย์ที่ซับซ้อนอื่น ๆ จะเผยตัวออกมามากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งประเด็นเหล่านี้มนุษย์เราอาจมีการประพฤติปฏิบัติกันมานานแล้วเพียงแต่ไม่มีการเปิดเผยให้รับรู้ เช่นเดียวกับ “กะเทยเลสเบี้ยน” ก็อาจจะมีมานานแล้วแต่ไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม
คนในสังคมและเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมาย การปกครอง การบริหาร โรงเรียน ครู อาจารย์ พ่อแม่ บุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนบ้าน ผู้นำศาสนา จำเป็นต้องลึกซึ้งและมีความเข้าใจอย่างเฉลียวฉลาดกับประเด็นเรื่องเพศ เพศสภาพ และเพศวิถี รู้จักที่จะยืดหยุ่นและผ่อนปรน
อย่างน้อยเพื่อจะได้ไม่เป็นการทำร้ายคนอื่น ๆ ในสังคม
ทั้ง 7 ประเด็นที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้น่าจะทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างที่ซ่อนเร้น อันเป็นประเด็นที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเพราะเรา ไม่ยอมรับกะเทย นั่นเอง
”หากสังคมของเราไม่มีอคติกับกะเทย ไม่มีอคติต่องานบ้านการเรือนเย็บปักถักร้อย ไม่มีอคติกับการแสดงออกทางเพศสภาพ ไม่มีอคติต่อเพศวิถีที่ข้ามอัตลักษณ์ ทั้งสามท่านก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเปิดตัวกับสังคมก็ได้”