คราวที่แล้วเราพูดถึงกรณี “ชายข้ามเพศกับการถูกต้องกายพระภิกษุ” กันไปแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีชายข้ามเพศหลายท่าน “คาใจ” เป็นลำดับถัดมาว่าตกลงแล้วตนเองสามารถบวชเป็นพระภิกษุได้หรือไม่ รวมทั้งประชาชนชาวพุทธก็น่าจะสงสัยเช่นกันว่าตกลง “ชายข้ามเพศ” สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้หรือไม่
ก่อนจะตอบอะไรไปผู้เขียนอยากให้ดูกรณีการบวชของคนเป็น“กะเทย” ตามกรอบต่อไปนี้เป็นModel (ตัวอย่าง) เสียก่อน
ทุกวันนี้คนเป็นกะเทยบวชได้ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ (1) ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ นั่นคือยังมีอวัยวะเพศชายอยู่ ทำให้มีคุณสมบัติตรงตามวินัยบัญญัติ (2) วัดที่บวชเป็นวัดที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและ / หรือเป็นวัดในเมืองที่ไม่ได้เป็นวัดใหญ่ที่มีความสำคัญในระดับท้องถิ่น (3) พระอุปัชฌาย์มีความเมตตามิได้รังเกียจและไม่ถือว่าเพศสภาพมีความสำคัญมากถึงกับต้องเอามาเป็นเหตุของการห้ามบวช |
ถ้าหากเงื่อนไขครบทั้ง 3 ข้อ ก็ถือว่าคนเป็นกะเทยสามารถบวชได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ (1) นั้นถือว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ เพราะตามความคิดของคณะสงฆ์แล้วการมีอวัยวะเพศชายเป็นเหมือนหลักฐานว่าผู้ที่ขอบวชยังมีความเป็นชายตรงตามหลักเกณฑ์ที่พระวินัยได้กำหนดไว้ ทำให้ “หลวงพี่แจ๊ส” อดีตมิสทิฟฟานี่ปี 2009 มีโอกาสบวชเป็นพระภิกษุ โดยมีพระอุปัชฌาย์ผู้มีความเมตตาบวชให้ซึ่งจัดว่าข้อ (3) ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อ (1) เลยทีเดียว
ส่วนข้อ (2) นั้นถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป เพราะเท่าที่สังเกตคือวัดใหญ่ ๆ หรือวัดที่มีชื่อเสียงมักมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธคนเป็นกะเทยให้เข้ามาบวช ในขณะที่วัดเล็ก ๆ หรือวัดในชนบทมักจะไม่เป็นปัญหา แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะวัดในเมืองบางแห่งก็พบว่ากะเทยก็สามารถเข้าไปบวชใช้ชีวิตสมณะเพศได้เป็นปกติสุข
ในกรณีกะเทยแปลงเพศเป็นหญิงไปแล้ว (สตรีข้ามเพศ) ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีใครบ้างที่ไปขอบวชกับทางวัด ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะมีอยู่เพียงแต่ “หญิงข้ามเพศ” อาจจะรู้ตัวดีว่าถึงไปขอบวชก็คงไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเพราะตนเองผ่านการผ่าตัดแปลงเพศไปแล้วคณะสงฆ์คงไม่ยอมรับ แต่ครั้นจะไปขอบวชเป็น “ภิกษุณี” ก็ดูเหมือนจะมีเสียงจากฟากฝั่ง “คณะภิกษุณีสงฆ์” ว่ายังบวชให้ไม่ได้ เพราะตามวินัยบัญญัติต้องเป็นหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น หากมีชายผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงมาขอบวช ทางภิกษุณีสงฆ์คงอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมจะให้การบรรพชาอุปสมบท เพราะลำพังการที่หญิงบวชห่มเหลืองก็ยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้เพื่อการยอมรับอยู่แล้ว เธอคงไม่มีกำลังใจจะมาต่อสู้เพื่อคนเพศอื่น ๆ เป็นแน่
กรณีนี้ผู้เขียนมองว่าเมื่อคนมีศรัทธาต้องการบวชก็ควรเปิดโอกาสให้เขา / เธอได้บวช เพราะการบวชคือการเดินทางไปสู่ชีวิตที่สงบ ไปสู่การละวางตัวตน ไปสู่มิติของโลกศาสนา ดังนั้น ทุกเพศควรมีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตเป็นนักบวชไม่จำกัดเฉพาะเพศชายเท่านั้น ศาสนาควรเปิดโอกาสให้ทุกเพศได้เข้าไปใช้ชีวิตที่สงบไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว การมีเพศสภาพที่แตกต่างจึงมิควรถูกยกขึ้นมาเป็นอุปสรรคหรือข้อรังเกียจต่อการบวช
"มุก" ชายข้ามเพศ
เมื่อว่ามาถึงตรงนี้แล้วก็หมายความว่า “ชายข้ามเพศ” ก็สามารถบวชได้ คือ ให้บวชในฝ่ายภิกษุ ไม่ใช่ให้ไปบวชในฝ่ายภิกษุณี เพราะรูปลักษณ์และความรู้สึกของชายข้ามเพศเป็นผู้ชายก็ต้องให้ไปบวชกับพระภิกษุ
แต่ปัญหาก็คือคณะสงฆ์หรือพระอุปัชฌาย์อาจไม่เข้าใจไม่ยอมรับ เพราะถือว่าตามพระธรรมวินัยนั้นเพศกำเนิดต้องเป็นเพศชาย และต้องมี “อวัยวะเพศชาย” จึงจะได้รับการยินยอมให้บวช แม้จะไปผ่าตัดทำอวัยวะเพศเทียมมาก็เดาใจว่าทางคณะสงฆ์หรือพระอุปัชฌาย์ในเวลานี้อาจยังไม่รับพิจารณา
1. ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เพศสภาพ ปัญหาอยู่ที่การตีความและการนำคำสอนของศาสนาไปใช้
เคยมีชายข้ามเพศถามผู้เขียนว่าเขาจะขอบวชระยะสั้นเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้หรือไม่เพราะขณะนี้รูปลักษณ์ของเขาได้เปลี่ยนเป็นชายไปแล้ว
ผู้เขียนตอบชายข้ามเพศคนนั้นให้เข้าใจในเบื้องต้นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาของการตีความวินัยบัญญัติที่ถูกตีความเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ในการบวชให้แก่ “เพศชาย” เท่านั้นโดยไม่เปิดโอกาสให้เพศอื่น ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดกับพุทธศาสนาเท่านั้นแต่เกิดขึ้นกับทุกศาสนาที่ออกแบบและถูกตีความให้ “เพศชาย” เข้าไปมีบทบาทในทางศาสนาได้เพียงเพศเดียว
หาก “ชายข้ามเพศ” เข้าใจตรงนี้เป็นเบื้องต้นก็จะเข้าใจบริบทโดยภาพรวมว่า มันไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดกับพุทธศาสนาแต่มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกศาสนาที่ไม่มีพื้นที่ให้ “คนข้ามเพศ” ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทางศาสนา
ทั้งนี้ สาเหตุก็เพราะศาสนาทุกศาสนาถูกบริหารและจัดการโดย “เพศชาย” และเป็นเพศชายที่มีมุมมองแบบรักต่างเพศ เมื่อ “เพศชายที่มีมุมมองแบบรักต่างเพศ” เข้าไปบริหารกิจการศาสนา ศาสนาจึงถูกจัดวางพื้นที่ให้กับ “เพศชาย” เป็นหลัก และจัดพื้นที่ให้ “เพศหญิง” เข้าไปบ้างแต่ไม่มากนัก หรือบางศาสนาก็ไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงเลย ในขณะที่เพศอื่น ๆ ขาดโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมในศาสนา หนำซ้ำอาจจะถูกบอกว่าเป็นเพศที่จะทำให้ศาสนาเสื่อมอีกด้วย
"จุ๊ฟ" ชายข้ามเพศ
2. ทางออกอยู่ที่ไหน ?
ถ้าเช่นนั้นแล้วทางออกที่ “ชายข้ามเพศ” จะได้เข้าไปบวชคือวิธีไหน ?
คำตอบของเรื่องนี้เราน่าจะย้อนกลับไปดู “โมเดล” (Model)โอกาสที่กะเทยได้บวช 3 เงื่อนไขในกรอบสี่เหลี่ยมที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น
กะเทยบวชได้ภายใต้ 3 เงื่อนไข (1) ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ นั่นคือยังมีอวัยวะเพศชายอยู่ (2) วัดที่บวชเป็นวัดที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้เป็นวัดดังและ / หรือไม่ใช่วัดใหญ่ที่มีความสำคัญในระดับท้องถิ่น (3) พระอุปัชฌาย์มีความเมตตามิได้รังเกียจและไม่ถือว่าเพศสภาพมีความสำคัญมากถึงกับต้องเอามาเป็นเหตุของการห้ามบวช |
สำหรับข้อ (1) ต้องเป็นเพศชายมีอวัยวะเพศชาย เวลาที่พระกรรมวาจาจารย์สวดถามนาคในพิธีอุปสมบทในโบสถ์ว่า “ปุริโสสิ๊” ซึ่งแปลว่า “ท่านเป็นชายหรือไม่” หากคำถามนี้ถูกตีความว่าหมายถึงความเป็นชายที่จิตใจด้วย ก็ถือว่า “ชายข้ามเพศสามารถบวชได้” ถึงแม้ “ชายข้ามเพศ” จะมิได้มีอวัยวะเพศชายมาแต่เดิม แต่ “ชายข้ามเพศ” ก็มี “ภาวะความเป็นชาย” ที่จิตใจ
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ควรหันมาพิจารณาใหม่ว่าในเมื่อ “ชายข้ามเพศ” มีความเป็นชายที่จิตใจแล้ว “ความเป็นชายที่จิตใจ” ถือเป็นเงื่อนไขที่สามารถนำมาพิจารณาในการอุปสมบทได้หรือไม่ เพราะคำถามในพิธีอุปสมบทถามผู้ที่จะบวชว่า “ปุริโสสิ๊” แปลว่า “ท่านเป็นชายหรือไม่” ยังเปิดโอกาสให้มีการตีความที่มากกว่าเพศกำเนิดที่ร่างกาย
ในขณะที่การตีความยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเวลานี้ก็คงต้องดูเงื่อนไขถัดไป คือ ข้อ (2) เป็นวัดที่อยู่ในชนบทไม่มีชื่อเสียง และ ข้อ (3) อุปัชฌาย์ไม่ถือว่าเพศสภาพมีความสำคัญมากถึงกับเอามาเป็นเหตุของการห้ามบวช หากมีอุปัชฌาย์ที่ใจกว้างดังข้อ (3) ก็ถือว่า “ชายข้ามเพศ” ไม่มีอุปสรรคในการบวช
ถ้าหากผู้เขียนเป็นอุปัชฌาย์ก็สามารถบวชให้ได้ เพราะถือว่าผู้ที่มาขอบวชมิได้ทำอะไรผิดในทางพระธรรมวินัย แต่ก็อาจจะต้องมีการป้องกันในรายละเอียดว่าหลังจากบวชแล้วไม่ถ่ายภาพลงในสังคมออนไลน์ ไม่ถ่ายรูปเผยแพร่เปิดตัวเพราะจะเป็นประเด็นทางสังคมตามมา ซึ่งในที่สุดการบวชเพื่อความสงบก็อาจจะไม่ได้รับความสงบอีกต่อไป
"คิม" ชายข้ามเพศ
3. บทความของฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
บทความซึ่งเขียนโดย ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ เรื่อง “ฉัตรสุมาลย์ ไขข้อข้องใจ แปลงเพศแล้ว บวชได้หรือไม่?” เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ เผยแพร่วันที่ 17 กันยายน 2559
มีใจความว่า
เรามองภาพรวมของคณะสงฆ์ จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงตระหนักว่า พุทธศาสนาในสมัยแรก เกิดขึ้นท่ามกลางความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ เช่นในสาวัตถีนั้น ก็เป็นศูนย์กลางของผู้ที่ปฏิบัติตามพวกนิครนถ์มาก่อน กว่าที่พระพุทธองค์จะสร้างความศรัทธาได้ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่การใส่ร้ายกันเป็นต้น
พระสงฆ์ ทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ จึงต้องทำหน้าที่ประกาศพระศาสนาไปในหมู่ของทั้งคนที่มีศรัทธาแล้ว และกลุ่มคนที่ยังไม่มีศรัทธา
พระสงฆ์ นอกจากจะต้องปฏิบัติมาดี รอบรู้ในพระธรรมคำสอนพอที่จะตอบโต้กับคนนอกศาสนาได้แล้ว ยังต้องมีรูปร่างที่ดูดีด้วย เป็นความคิดแบบเดียวกับที่กระทรวงต่างประเทศเขาจะจัดเอกอัครราชทูตออกไป ประจำประเทศต่าง ๆ บรรดาทูตานุทูต ไม่ได้ไปในฐานะของตัวเอง แต่ไปเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ
พระสงฆ์ก็เช่นกัน ต้องผ่านการคัดกรองด้วยความคิดแบบนี้
เมื่อเราเข้าใจบริบท เราก็จะเข้าใจว่า พระอุปัชฌาย์จะคัดสรรให้คนบวชหรือไม่บวชอย่างไร
เนื้อหาของบทความเน้นไปที่ “ความรู้สึกของสังคม” ที่มองเข้ามายังศาสนา หากศาสนามีคนที่ “แตกต่าง” เข้ามาบวช สังคมก็จะมองในแง่ลบว่า “เหตุใดศาสนาเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาบวช”
ผู้เขียนมีความเห็นต่างว่าในกรณีของคนที่มีเพศภาวะ เพศสภาพ เพศวิถี หรือแม้แต่คนมีอวัยวะเพศที่แตกต่าง ศาสนาควรเป็นตัวอย่างของการไม่ปิดกั้น ไม่เลือกปฏิบัติ ศาสนาควรมองข้ามความแตกต่างในเรื่องนี้ออกไป เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมได้หลุดพ้นไปจากการเลือกปฏิบัติ
ในบทความได้อ้างอิงเหตุผลว่าในสมัยพุทธกาลมีการห้าม “เพศที่แตกต่าง” เข้ามาบวชด้วยเหตุผลว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนาดูไม่ดี อาจทำให้ศาสนาไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และอาจถูกศาสนาอื่นดูแคลน
แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมกำลังก้าวไปสู่การยอมรับเพศที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น บางประเทศเปิดโอกาสให้ “บุคคลหลากหลายทางเพศ” เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอันเป็นสถานะที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าในระดับสากลมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงมองว่าศาสนาเองควรตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้มาก หรือควรมองข้าม “ความเป็นเพศ” ออกไป ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับว่าศาสนากลายเป็นอีกสถาบันหนึ่งในสังคมที่เข้าไปซ้ำเติมและเลือกปฏิบัติ “คนที่แตกต่าง” ให้ตกขอบมากยิ่งขึ้นไปอีก
ขอให้ดูประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่าง ประเทศอังกฤษได้มอบหมายให้ “คนรักเพศเดียวกัน” อย่างน้อยสองท่านดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ นั่นหมายความว่าการเป็น “คนรักเพศเดียวกัน” ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศอังกฤษจะต้องอับอาย
ไบรอัน เดวิดสัน (ขวา) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
ถ่ายภาพกับคู่รักชาวจีนของท่าน ภาพจาก Facebook ของ Nattha Komlvadhin
จูดิธ กอฟ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน
ท่านมีคู่รักเป็นหญิงชื่อ จูเลีย ไคลอุสซึ ปัจจุบันมีบุตร 2 คน
ภาพและข้อมูลจาก [ประชาไทย]
การเป็นนักการทูตของผู้มีความหลากหลายทางเพศมิได้เป็นผลลบต่อหน้าตาของประเทศฉันใด การเป็นนักบวชของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มิได้เป็นผลลบต่อหน้าตาของพุทธศาสนาฉันนั้น ตรงกันข้ามกลับทำให้เห็นว่าพุทธศาสนานั้นมิได้รังเกียจบุคคลหลากหลายทางเพศ พุทธศาสนิกชนควรเรียนรู้เปิดใจให้กว้างว่าเพศสภาพที่แตกต่างมิได้เป็นที่น่ารังเกียจต่อการเป็นนักบวช หากจะเป็นอุปสรรคก็เพราะมาจากอคติของชาวพุทธนั่นเองที่ขาดความรู้ความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศว่าเขา / เธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
หากมีคำโต้แย้งว่าบุคคลหลากหลายทางเพศเมื่อเข้ามาบวชแล้วมักทำเรื่องเสื่อมเสียให้กับศาสนา ขอให้เราย้อนกลับมาดูเพศชายที่เข้ามาบวช พวกเขาก็ทำเรื่องเสื่อมเสียไม่แพ้กัน ดังนั้นเราควรมีตาปัญญามองเห็นว่าทุกคนต่างก็มีโอกาสทำให้ศาสนาเสื่อมเสียได้เท่า ๆ กัน ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขา / เธอเป็นเพศอะไร
4. “ข้ามเพศ” แล้วอย่าลืม “ข้ามอุดมการณ์”
“อุดมการณ์” หรือ Ideology แปลว่าความคิดความเชื่อ หรือแนวคิดเชิงอุดมการณ์
การข้าม Ideologyก็คือการก้าวข้ามความคิดความเชื่อแบบเดิมที่เราเคยมีไปสู่ความคิดความเชื่อแบบใหม่ที่ไม่ตัดสิน ไม่ดูถูก ไม่เลือกปฏิบัติต่อกันและกัน ไม่ว่าเขา / เธอจะมีเพศสภาพ เพศวิถีแบบใด เราไม่มองเรื่องเพศสภาพ-เพศวิถีในแบบเดิมอีกต่อไป แต่มองว่าเป็นสิทธิของคน ๆ นั้นที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตนเอง มีสิทธิ์ภาคภูมิใจในตนเอง
ไม่ว่าท่านจะข้ามเพศด้วยการ
· แปลงเพศ (Sex Change)
· ข้ามเพศผ่านการแต่งกายหรือแสดงออกทางรูปลักษณ์ (Gender) หรือ
· ข้ามเพศผ่านเพศวิถี(Sexuality) หรือข้ามเพศที่ความพึงพอใจทางเพศ (Sexual Orientation)
ในที่สุดแล้วอย่าลืมข้าม Ideologyด้วย นั่นก็คือ “ข้ามอุดมการณ์ในเรื่องเพศ”
กะเทย เกย์ เลสเบี้ยน ทอม ดี้ บางคนเห็นกะเทยบวชพระแล้วต่อต้าน ไม่เห็นด้วยที่กะเทยบวชพระ
ชายข้ามเพศบางคนไม่ยอมรับที่เห็นชายข้ามเพศรักกับชายด้วยกัน
กะเทยบางคน (หรือหลายคน) ไม่ยอมรับกะเทยที่รักผู้หญิง
บางทีเราข้าม Sex Change เราข้าม Gender เราข้าม Sexuality กันไปแล้ว แต่เรามักจะลืมข้าม Ideology
ไหน ๆ ก็ “ข้ามเพศ” กันไปแล้ว อย่าลืม “ข้ามอุดมการณ์เรื่องเพศ” กันไปด้วย
แม้บางคนจะไม่ได้ข้ามอะไรเลย แต่อยากสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ก็สามารถ “ข้ามอุดมการณ์ทางเพศ” ได้เช่นกัน นั่นคือหันมาให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศ แล้วช่วยกันบอกต่อว่ามันเป็น “สิทธิ” เบื้องต้นของปัจเจกบุคคล
"จิมมี่" ชายข้ามเพศ
5. ทางเลือกอื่นๆ
หาก “ชายข้ามเพศ” สนใจพุทธศาสนาในแนวทางการปฏิบัติโดยไม่สนใจเรื่องการบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ก็มีทางเลือกอื่น ๆ เช่น การเรียนรู้ฝึกตนในรูปของการเป็นฆราวาสถือศีล 5 หรือการบวชถือศีล 8 ในบางช่วงเวลา
การเป็น “ชายข้ามเพศ” ถือว่าหาสถานที่ปฏิบัติธรรมไม่ง่ายนัก เพราะวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมบางแห่งยังคงมีอคติ มีการปฏิเสธคนข้ามเพศทั้งกะเทยและชายข้ามเพศในการเข้ามาปฏิบัติธรรม
“เอิง” ได้เล่าประสบการณ์การปฏิบัติธรรมผ่านเว็บไซต์ที่เขาสร้างขึ้นมาเอง เขาเล่าว่า…
“เราตั้งใจจะไปปฏิบัติธรรม ณ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ตอนแรกเรากังวลว่า เขาจะรับเราเข้าวิปัสสนากรรมฐานป่าววะ? ลักษณะภายนอกเป็นผู้ชาย แต่บัตรประชาชนเป็นนางสาว เขาจะงงมั๊ย
คนผิดเพศ เขาถือเป็นภัยศาสนามั๊ยวะ เค้าจะไล่เราออกจากวัดมั๊ยนิ ดูคิดเยอะเนอะ 55555
(สุดท้ายเราก็ไม่ได้คาดหวังอะไรนะ ถ้าเค้าไม่รับ เราก็แค่กลับบ้าน)
แต่พอไปถึงวัดแล้ว ที่จุดลงทะเบียนเรายื่นบัตรประชาชนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเขาก็สอบถามและเข้าใจอย่างง่ายดาย แล้วก็ให้เราเข้าพักที่โรงนอนชาย พร้อมทั้งให้ใส่ชุดอุบาสก (ผู้ชาย)ก็ค่อนข้างตกใจและประทับใจนะที่เขาเข้าใจเร็วมากและไม่มีท่าทีกีดกัน”
"เอิง" ชายข้ามเพศ
ติดตามอ่านเรื่องราวทั้งหมดของเอิงได้ที่เว็บไซต์ต่อไปนี้
ท้ายสุดนี้ คุณผู้อ่านคงเข้าใจมากขึ้นว่าการเป็น “ชายข้ามเพศ” ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบวช แต่ที่เป็นอุปสรรคก็เพราะสังคมหรือคณะสงฆ์ยังไม่เข้าใจ “ชายข้ามเพศ” นั่นเอง
คราวหน้าเราจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ “ชายข้ามเพศ” ที่ได้บวชในพุทธศาสนาเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์โลก.