เมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานประชุม “ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ” * ซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้วเป็นกฎหมายที่ยอมรับให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้าสำหรับผู้ที่ผ่านการแปลงเพศมาแล้วนั่นเอง โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานที่เขียนร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา
สิ่งที่น่าแปลกใจอันดับต้น ๆ ในงานนี้ก็คือผู้ดำเนินรายการพูดถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า “มีผู้ได้รับผลกระทบ” แทนที่จะใช้คำว่า “มีผู้ได้รับประโยชน์” เพราะโดยปกติเวลามีการเขียนกฎหมายอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาก็น่าจะเป็นเรื่องของการ “ได้รับผลประโยชน์” มากกว่าการ “ได้รับผลกระทบ” ซึ่งเมื่อฟังการประชุมไปเรื่อย ๆ จึงได้ถึง “บางอ๋อ” ว่าเหตุใดผู้ดำเนินรายการจึงใช้คำนี้
สิ่งที่น่าแปลกใจลำดับถัดมาคือในเอกสาร “ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ พ.ศ. ...” หรือ Draftที่แจกให้ในงานประชุมกลับมีข้อความ “ห้ามมิให้ผู้ใดทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่เอกสารฉบับนี้ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต หากผู้ใดกระทำการดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย” กำกับอยู่ทุกหน้า
จึงทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าเหตุใดเอกสารร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีข้อความดังกล่าว เพราะโดยความเป็นจริงแล้วเอกสารร่างกฎหมายใด ๆ ควรได้รับการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ ประชาชนจะได้มีโอกาสตรวจสอบ หรือมีส่วนร่วมในฐานะผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ดูมีเลศนัยลึกลับซับซ้อนอย่างไรชอบกล
เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วพบว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายมุ่งให้ประโยชน์แก่ “ผู้ที่ผ่านการแปลงเพศแล้ว” เป็นหลัก แต่มิได้พูดอะไรชัดเจนนักเกี่ยวกับ “ผู้ที่มิได้ประสงค์จะแปลงเพศแต่มีหน้าตาและเพศสภาพไม่ตรงกับคำหน้านามในบัตรประชาชน” ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมไทยมีจำนวนบุคคลลักษณะนี้ที่กำลังรอการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายไม่น้อยไปกว่า “ผู้ที่ผ่านการแปลงเพศ” ไปแล้ว เพราะอย่างไรเสียทั้ง “ผู้ที่แปลงเพศแล้ว” และ “ผู้ที่มิได้แปลงเพศ” ต่างก็ประสบปัญหาเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปต่างประเทศ
และก็ใช่ว่าผู้ต้องการสิทธิอันนี้จะต้องการการผ่าตัดแปลงเพศไปเสียทุกคน ซึ่งในตัวร่างกฎหมายนี้ก็มิได้กล่าวอะไรมากนักเกี่ยวกับสิทธิของ “ผู้ที่ไม่ต้องการแปลงเพศ” นอกเสียจาการสนับสนุนให้ได้รับการแปลงเพศ จึงฟังดูเหมือนว่าทางออกของปัญหานี้คือ “ทำให้ทุกคนได้รับการแปลงเพศ” แล้วจะได้รับการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ซึ่งดูแล้วเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเท่าไร
ที่สำคัญคือร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีการพูดถึงบุคคลที่เกิดมามีสองเพศ (intersex) หรือเกิดมามีอวัยวะเพศไม่ชัดเจน ซึ่งพวกเขาก็มีตัวตนอยู่ในสังคมไทย พวกเขายังคงประสบปัญหาที่รัฐไทยต้องการให้ประชาชน “ต้อง” เป็นเพศใดเพศหนึ่งอยู่ดี ในที่สุดแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้จึงทรงไว้ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนผู้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง
ร่างกฎหมายนี้จึงทำหน้าที่ดำรงรักษาไว้ซึ่ง “ระบบสองเพศ” คือเพศชายกับเพศหญิงโดยไม่เปิดโอกาสให้คนได้เป็นเพศอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้หญิงหรือผู้ชาย
ภายใต้กฎหมายที่รัฐไทยบังคับให้คนต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่งเช่นนี้จึงถือเป็นความรุนแรงที่แนบเนียน เพราะคนในสังคมต่างก็ “เชื่อ” พร้อมไปกับรัฐแล้วว่าคนเราเกิดมาต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่ง จะมีสองเพศไม่ได้ จะมีเพศกำกวมก็ไม่ได้ จะเป็นเพศกลาง ๆ หรือไม่มีเพศก็ไม่ได้
เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้คนจะเป็นเพศอะไรก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศชายและไม่จำเป็นต้องเป็นเพศหญิง เป็นบุคคลที่ไม่ต้องระบุเพศ(โปรดอย่าบอกว่าพระภิกษุเป็นบุคคลไม่มีเพศ เพราะเอาเข้าจริง ๆ ตามกฎหมายไทย พระภิกษุก็ยังต้องเป็น “เพศชาย” อยู่ดี เพราะเพศอื่น ๆ แม้แต่ “เพศหญิง” ตามกฎหมายไทยก็ยังไม่อนุญาตให้เป็นพระถึงแม้ในพระไตรปิฎกผู้หญิงจะสามารถบวชเป็นพระได้ก็ตาม ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเพศอื่น ๆ )
หากเราต้องการให้ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันจริง ๆ เราควรจะ “ตัดคำนำหน้านาม” ออกเสีย เพราะ “คำนำหน้านาม” นั่นแหละเป็นที่มาของปัญหาเรื่องสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน
สิ่งที่ LGBTI ต้องประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือการถูกคาดหวังให้เป็นเพศใดเพศหนึ่งระหว่างชายกับหญิง LGBTI ไม่ได้ถูกคาดหวังในชีวิตประจำวันเท่านั้นแม้แต่ในเชิงตัวบทกฎหมายก็ยังถูกบังคับให้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง ดังนั้น การที่รัฐมีเพียงคำนำหน้าให้เลือกเพียง “นาย” “นาง” “นางสาว” จึงเป็นการจำกัดเพศให้เหลือเพียง “ชาย” กับ “หญิง” ทั้ง ๆ ที่โดยความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชายกับเพศหญิง
นี่จึงไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยหรือในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศเพราะโลกหมุนไปด้วย “ระบบมนุษย์สองเพศ” ทุกสิ่งอย่างเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้กับเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น หากมนุษย์ตนใดเกิดมามีอวัยวะเพศไม่ชัดเจนก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่สังคมมิได้มีพื้นที่ให้
โดยแท้จริงแล้วมิใช่ปัญหาของพวกเขาที่เกิดมามีเพศไม่ชัดเจน แต่เป็นปัญหาของระบบสังคมที่จำกัดจำเขี่ยในการแยกเพศของคนออกเป็นแค่สองเพศเท่านั้น
เพศเป็นภาวะที่ถูกสมมุติขึ้นผ่าน “ขันธ์ 5” (ตามแนวคิดทางพุทธศาสนา) เราถูกสมมุติให้เป็น “เพศชาย” เราถูกสมมุติให้เป็น “เพศหญิง” บ่อยครั้งที่เราและสังคมต่างก็ยึดติดความสมมุตินี้มากจนเกินพอดี จนใครก็ตามที่มิได้เป็นไปตามสมมุตินี้ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ นั่นก็คือได้รับความเดือดร้อนด้วยเหตุแห่งสมมุติ
สิทธิของมนุษย์จึงไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่มีสมมุติเพศออกเป็นชายกับหญิง ตราบใดที่ยังมีการแบ่งเพศกันอยู่จึงเป็นไปได้ยากที่มนุษย์จะมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน แม้ว่าจะมี พ.ร.บ. ออกอะไรออกมามากมายก็แทบจะช่วยอะไรไม่ได้มาก
ย้อนกลับไปดูร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวกันต่อ เท่าที่ดูจากร่างกฎหมายทั้งหมดจึงสันนิษฐานว่ามิได้มีการทำวิจัยหรือสอบถามความต้องการของ LGBTI มาก่อนเพราะเนื้อหาของกฎหมายค่อนข้างลิดรอนสิทธิอย่างไรชอบกล ยกตัวอย่างบุคคลที่ต้องการได้รับการรับรองเพศต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ก็มีเสียงจากผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นว่า “ทำไมต้องให้คนอื่นมารับรองเรา เรารู้ตัวว่าเราเป็นใครมาตั้งแต่ 3-4 ขวบ”
การมีคณะกรรมการก็เหมือนกับมีการทำให้ประชาชนมีอำนาจน้อยลงในการกำหนดเพศตนเองว่าตนจะเป็นเพศอะไร จะเป็นความสะดวกกว่าหรือไม่ที่ประชาชนเพียงแค่ไปขอให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทะเบียนราษฎร์อำเภอรับรองเพศตามคำขอได้ง่ายเหมือนตอนทำบัตรประชาชน ไม่ควรจะมีอะไรยุ่งยากถึงกับต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา (เสียงจากผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่ง) อีกทั้งการมี “ระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มเงื่อนไขที่ยากลำบากในการได้รับการรับรองเพศยิ่งขึ้นไปอีก หากบุคคลไม่สามารถทำตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดก็แปลว่าไม่สามารถได้รับการรับรองเพศตามสิทธิที่ควรได้รับ
การใช้คำว่า “รักษาเพื่อการแปลงเพศ” ก็ยังเป็นวิธีการใช้คำที่ทำให้บุคคลข้ามเพศกลายเป็นคนป่วยทางจิต ทั้ง ๆ บุคคลข้ามเพศมิได้เป็นคนป่วย
มีผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า เธอมีคู่ชีวิตและมีบุตร 2 คนซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าผู้ร้องขอให้มีการรับรองเพศต้องไม่มีคู่สมรส ต้องไม่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ นั่นหมายความว่าเธอหมดสิทธิ์ที่จะขอให้มีการรับรองเพศ ทำเอาห้องประชุมเงียบงันไปชั่วขณะ เพราะการที่เธอลุกขึ้นพูดถึงสิทธิที่เธอไม่ได้รับนั่นเท่ากับแสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มิได้ทำการทำสำรวจเสียงจากประชาชนและเป็นร่างกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิอย่างชัดเจน
มีผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่านที่ลุกขึ้นพูดถึงเนื้อหาของกฎหมายที่ “ส่งผลกระทบกับตนเอง” การมีผู้เข้าร่วมประชุมพากันลุกขึ้นแสดงความเห็นมากมายหลายท่านทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าตัวร่างมีจุดบกพร่องที่ต้องปรับแก้อยู่หลายจุดทีเดียว
อย่างไรก็ตามหลังจากงานประชุมผ่านไปสามวัน ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้ออกมาแถลงว่าร่างกฎหมายรับรองเพศฉบับดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาข้อมูล เป็นเพียงการทำงานทางวิชาการและการสอบถามความคิดเห็นไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทางกรมยังไม่มีแผนพิจารณาดำเนินการเสนอ (ร่าง) กฎหมายดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายแต่อย่างใด และในอนาคตอาจมีการพิจารณาเสนอแนวทางอื่นที่ดีกว่าแทนการออกกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ (เว็ปไซต์ นสพ.ข่าวชัดประเด็นจริง, สค. พม. แจง กรณีร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศยังเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาข้อมูลเท่านั้น, http://www.khaochad.com/85228/?r=1&width=1920 )
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายรับรองเพศออกมาในตอนนี้ แต่อย่างน้อยก็ควรมีมาตรการเร่งด่วนที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ LGBTI ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับบัตรประชาชนให้เกิดความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปต่างประเทศซึ่งพวกเขาประสบปัญหาบ่อย ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีสองเพศ (Intersex) หรือมีอวัยวะเพศกำกวม ก็ควรได้รับความสะดวกอย่างเร่งด่วนในเรื่องเอกสารที่ระบุเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด
คำถามทิ้งท้ายสำหรับบทความนี้ก็คือ ในขณะที่เรามี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2558 พ.ร.บ. (ซึ่งได้ยินว่าเป็น พ.ร.บ. ที่ออกมาแบบ “ลักหลับ”) ก็น่าจะสามารถอำนวยความสะดวกแก่ LGBTIได้ในกรณีเพศสภาพไม่ตรงกับบัตรประชาชน รวมทั้งน่าจะอำนวยความสะดวกแก่บุคคลที่เป็น Intersex
ถ้า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2558 ยังไม่สามารถช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ LGBTI ได้ในประเด็นเร่งด่วนอันนี้ ก็หมายความว่า พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศยังไม่สามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ LGBTI กำลังเผชิญอยู่ได้ ... นั่นก็เพราะคนเขียนกฎหมายมิได้มองเห็นปัญหาของ LGBTI อย่างลึกซึ้ง
ถ้าเช่นนั้นแล้วจะไปหวังพึ่ง “พ.ร.บ. การรับรองเพศ” ได้อย่างไร
*งานประชุม “การเสวนา (ร่าง) พ.ร.บ.การรับรองเพศ พ.ศ. ...”
วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2560 โรงแรมเอเชีย ปทุมวัน กรุงเทพฯ