ช่วงนี้เห็นพอลลีนเงียบ ๆ ไป เราจึงอยากเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเธอไว้เป็นบันทึกความทรงจำ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักพอลลีนบทความนี้เหมือนกับเป็นการย่นย่อเรื่องราวที่แสนยาวของเธอให้สั้นกระชับเข้าใจง่าย เราไปทำความรู้จักกับ “พอลลีน งามพริ้ง” กันเลย ...
........................................
กลางปีที่ผ่านมาข่าวที่ทำให้สังคมไทยมีความเคลื่อนไหวต่อความคิดความเข้าใจเรื่องเพศมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณี พินิจ งามพริ้ง เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นหญิงข้ามเพศชื่อ พอลลีน งามพริ้งจนเป็นข่าวดังไปในชั่วพริบตา
แม้ พินิจ งามพริ้ง จะเป็นคนดังในวงการกีฬา เป็นประธานเชียร์ฟุตบอล แต่ก็เป็นวงการเฉพาะทาง มีคนรู้จัก พินิจ งามพริ้ง เฉพาะวงการกีฬาฟุตบอลเท่านั้น ผู้เขียนเองยังไม่เคยรู้จัก พินิจ งามพริ้ง มาก่อน จนเมื่อพินิจเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นพอลลีน ใครที่ไม่เคยรู้จักพินิจจึงรู้จักพินิจกันในคราวนี้
กรณีของ พินิจ งามพริ้ง หรือ พอลลีน งามพริ้ง เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ เขาต้องย้ายตัวเองไปอยู่อเมริกาแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นพอลลีน ทำไมต้องย้ายไปอยู่อเมริกา ? ทำไมพินิจต้องลงทุนขนาดนั้น ?
เหตุผลเพราะการเปลี่ยนแปลงตัวเองในเมืองไทยเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นแดนสวรรค์ของ LGBT ก็จริงแต่มันเป็นเพียงภาพลวงตา จะเกิดอะไรขึ้นหากจู่ ๆ พินิจ งามพริ้ง ชายมาดแมนผู้มีชื่อเสียงในวงการกีฬาสุดฮอทคนนั้นลุกขึ้นมาแต่งหญิงแล้วบอกกับสังคมว่าวันนี้ฉันจะเป็นพอลลีน คิดว่า พินิจ งามพริ้ง จะมีชีวิตราบรื่นต่อไปไหม บางทีทั้งพินิจและพอลลีนอาจจะไม่มีลมหายใจต่อไปก็ได้ถ้าลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนั้น เพราะสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่เปิดใจกว้างต่อ LGBT สังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศแต่เพียงฉากหน้าเท่านั้น
กดทับไว้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ
พินิจต้องกดทับความเป็นหญิงในตัวเองไว้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เมื่อเขาเปิดเผยตัวตนผ่านบุคลิกที่นุ่มนิ่มปฏิกิริยาของครอบครัวในเวลานั้นคือไม่ยอมรับและขอให้เขาทำตัวให้แมน
“ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นตุ๊ด” เป็นคำพูดที่เพื่อนคนหนึ่งพูดกับผู้เขียน มันคงเป็นเช่นนั้น พินิจจึงต้องแสดงความเป็นชายออกมาตั้งแต่บัดนั้นด้วยบทบาทด้านกีฬาซึ่งพ่อของเขาเป็นผู้ฟูมฟักจนกระทั่งปัจจุบันเขาเป็นประธานเชียร์บอล แต่งงาน มีลูก แล้ววันหนึ่งในห้วงอายุ 40 ปลาย ๆ พินิจก็หันกลับมารู้สึกตัวอย่างชัดเจนอีกครั้งและบอกกับตัวเองว่าเขาควรเป็นตัวของตัวเองได้แล้วหลังจากที่กดทับมานาน
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีพินิจรู้ตัวมาตลอดว่ามีอีกตัวตนหนึ่งซึ่งเขาได้กดทับเอาไว้ไม่ปล่อยให้ออกมาโลดแล่นเป็นอิสระ ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ “พอลลีน” นั่นเอง ทำไมเขาต้องกดทับเธอไว้ เพราะเขาต้องทำตามความคิดความเชื่อของสังคม สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ยอมรับคนข้ามเพศ เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน ทอม ดี้ ได้อย่างง่ายดาย พินิจจึงไม่อาจจะปล่อยให้พอลลีนออกมาโลดแล่นเป็นตัวเอง ไม่เช่นนั้นเขาอาจไม่มีที่เหยียบที่ยืนบนผืนแผ่นดินไทย การถูกล้อเลียนว่าเป็นตุ๊ด การถูกเย้ยหยันว่าเป็นกะเทยจะตามมา นี่เป็นสิ่งที่คนๆ หนึ่งต้องกดทับตัวเองเอาไว้เพื่อความอยู่รอด มันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่มันก็เป็นไปแล้ว
ฝันว่าตนเองเป็นผู้หญิง
สิ่งที่พอลลีนให้สัมภาษณ์กับสื่อเหมือนกันทุกครั้งก็คือเมื่อล้มตัวลงนอน พินิจจะฝันเห็นตัวเองเป็นผู้หญิงตลอด
เวลาที่ผู้เขียนอบรมพระภิกษุผู้บวชใหม่ ผู้เขียนมักจะถามเสมอว่าบวชมาแล้วฝันว่าตนเองเป็นพระบ้างหรือยัง?เพราะการฝันว่าตนเองเป็นพระภิกษุเท่ากับเป็นการยืนยันว่าจิตใต้สำนึกของเรายอมรับความเป็นพระของเราเรียบร้อยแล้ว โดยปกติถ้าพระภิกษุบวชระยะสั้นประมาณ 7 วัน 10 วัน มักจะไม่ฝันว่าตนเองเป็นพระเนื่องจากจิตใต้สำนึกยังไม่มีการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงจากเพศฆราวาสมาเป็นเพศนักบวช สำหรับบางคนยังไม่ทันจะฝันว่าตนเองเป็นพระก็ลาสิกขากันไปในระยะเวลาอันสั้น ต่อเมื่อได้บวชต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงจะเริ่มฝันว่าตนเองเป็นพระซึ่งแต่ละท่านก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน
การที่พอลลีนให้สัมภาษณ์ว่าตนเองฝันว่าเป็นผู้หญิงเท่ากับเป็นการยืนยันว่าจิตใต้สำนึกของเธอมีสำนึกของความเป็นเพศหญิงมานานแล้ว หรืออาจจะมีตั้งแต่เกิดแล้ว
แม่และพ่อ
แม่เป็นคนที่รู้ก่อนใครเพื่อน แม่รู้ล่วงหน้าก่อนที่พินิจจะเปลี่ยนเป็นพอลลีน 2 ปี
เมื่อถึงวาระการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างจริงจัง สิ่งที่พินิจต้องทำก็คือการบอกกับครอบครัว พินิจบอกกับแม่เป็นคนแรกก่อนที่เขาจะย้ายไปอยู่อเมริกาเมื่อสองสามปีก่อนหน้านี้ แม่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการถามตรง ๆ กับจอมขวัญว่า “ลูกอยากจะเป็นอะไร อยากทำอะไรแล้วมีความสุขก็จงทำไป แม่เป็นผู้ให้กำเนิดแม่อนุญาต ถึงอย่างไรลูกก็เป็นลูกแม่”
จอมขวัญถามว่าเสียใจไหม แม่ตอบว่า “แม่ไม่เสียใจ เพราะเขาเป็นลูกเรา เขาเป็นคนดีมาตลอด ดูแลเรามาตลอด เราไม่กังวลว่าใครจะมาคิดอะไรกับลูกของเรา”
พอลลีน กับ คุณแม่
ภาพจากรายการ ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ 8 สิงหาคม 2560
ส่วนพ่อนั้นพินิจบอกพ่อช้ามากเพราะพ่อเป็นคนที่ฝึกพินิจให้เป็นผู้ชาย พินิจจึงลังเลอยู่นาน แต่แล้วในวันหนึ่งหลังจากที่ย้ายไปอยู่อเมริกาพินิจก็โทรศัพท์บอกกับพ่อตรง ๆ สิ่งที่พ่อตอบกลับมากลับทำให้พินิจถึงกับงงเพราะคนที่คิดว่าบอกยากมากที่สุดกลับกลายเป็นคนที่เข้าใจง่ายที่สุด พ่อตอบว่า “ไม่เป็นไรลูก ยังไงลูกก็ยังเป็นลูกพ่อ เราเป็นคนดีไม่ได้ไปทำร้ายใคร”
พินิจจึงถามพ่อตรง ๆ ว่า “แล้วคุณพ่อจะอายญาติ ๆ ไหม” พ่อตอบว่า “พ่อไม่อายหรอก แล้วเราก็ไม่ต้องไปอายใครนะเพราะเราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และคนอื่นก็ไม่ได้เอาเงินมาให้เราใช้” หากคลิกไปดูรายการ “ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ” จะรู้สึกว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่สามารถทำให้คนดูน้ำตาไหลได้ง่าย ๆ
พอลลีนกับลูกชาย
“ปั๊บ” ลูกชายวัยรุ่นของพอลลีนทราบเรื่องราวหลังจากที่พอลลีนย้ายไปอยู่อเมริกาแล้ว
ลูกชายยังคงเรียกพอลลีนว่า “ปะป๊า” เช่นเดิม เขาทราบมาก่อนเป็นระยะว่าปะป๊ามีความเครียดแต่ไม่ทราบว่าเครียดเรื่องอะไร จนกระทั่งปะป๊าไปอยู่อเมริกาแล้วได้สนทนากันผ่าน Facebook
พอลลีน กับ ปั๊บ ลูกชาย
ภาพจากรายการ Woody Night 15 สิงหาคม 2560
“ตอนแรกก็ตกใจบ้าง แต่ก็คิดว่าถ้าสิ่งที่ปะป๊าทำไปแล้วหายเครียดผมก็ยินดี ผมไม่มีปัญหาว่าเขาจะเป็นแบบไหน พ่อก็ยังเป็นพ่อเหมือนเดิม พ่อยังสอนผมได้เหมือนเดิม ยังเป็นพ่อที่มีความคิด มีอุดมการณ์ ไม่ว่าภายนอกเขาจะเป็นอย่างไรผมก็ยังเชื่อในความคิดและการกระทำของเขาครับ” ปั๊บให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Woody Night
เป็นบทสัมภาษณ์ที่น่ารักทีเดียวสำหรับลูกชายของพอลลีนที่เข้าใจจิตใจของบุคคลผู้เป็นบุพพการี ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ลูกจะเปิดใจยอมรับพ่อแม่ที่เป็นLGBTเพราะจริง ๆ แล้วอาจจะมีลูกบางคนที่ไม่เข้าใจพ่อแม่ของตนเองเนื่องจากลูกได้รับเอาวิธีคิดแบบโฮโมโฟเบียของสังคมมาตัดสินพ่อแม่ที่เป็น LGBT
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก้าวข้าม
พอลลีนให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนั้นเขาคิดว่าจะใช้ชีวิตเป็นพินิจแบบนี้โดยเก็บความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงไว้เป็นความลับไปจนวันตายไม่บอกให้ใครรู้ แค่นอนหลับแล้วจินตนาการว่าตนเองเป็นผู้หญิง ได้ฝันว่าตัวเองเป็นผู้หญิงแค่นี้ก็พอแล้ว พินิจคิดเพียงเท่านี้และคิดว่าเขาคงจะอยู่กับมันแบบนี้ไปตลอดชีวิต
จนวันหนึ่งพินิจไม่สามารถเก็บความรู้สึกนี้ไว้ได้อีกต่อไป เขาลงทุนซื้อเสื้อผ้าผู้หญิงมาสวมใส่ แล้วเช่าโรงแรมเปิดห้องเพื่อแปลงโฉมเป็นผู้หญิงแล้วขลุกตัวเองอยู่ในห้อง เขาไม่ได้ทำแบบนี้เพียงครั้งสองครั้งแต่ทำอยู่หลายครั้ง ทุกครั้งที่ทำเสร็จ เขากลับรู้สึกผิดกับตัวเอง รู้สึกผิดกับคนอื่นว่าเขาไม่ควรทำแบบนี้ หนำซ้ำเขายังปฏิเสธตัวเองว่าเขาไม่ใช่คนข้ามเพศ เขาไม่ได้เป็นคนข้ามเพศ ... เขารู้สึกรังเกียจตัวเองที่เป็นแบบนี้
หลังจากนั้นพินิจก็นำเสื้อผ้าเหล่านั้นไปทิ้งเพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าเขาแอบแต่งหญิง นำไปทิ้งเพื่อเขาจะได้ไม่นำมันกลับมาสวมใส่อีก นำไปทิ้งเพื่อเขาจะได้ไม่เห็นมันอีกไม่รับรู้มันอีกว่าเขาได้ทำอะไรลงไป ...
เป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกินสำหรับคน ๆ หนึ่งที่ต้องการเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น นี่ไม่ใช่ปัญหาของพินิจ งามพริ้ง แต่เป็นปัญหาที่มาจากวิธีคิดของสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเพศสภาพซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคน ๆ หนึ่ง
หากสังคมยอมรับคนข้ามเพศได้อย่างไม่มีปัญหา พินิจคงไม่ต้องปิดบังซ่อนเร้นตัวเองขนาดนี้ ไม่ต้องไปแอบซื้อเสื้อผ้าผู้หญิงมาสวมใส่ ไม่ต้องไปอยู่อเมริกาเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ต้องเปิดเผยตัวเองกับครอบครัวในภายหลัง เพียงแค่สังคมเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนมุมมอง ยอมรับว่าใคร ๆ ก็สามารถข้ามเพศได้ พินิจหรือพอลลีนก็คงไม่ต้องลำบากไม่ต้องเผชิญอะไรที่สาหัสสากรรจ์เช่นนี้
เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี
รายการ “ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ” ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ระหว่างที่รายการออนแอร์มีผู้ชมส่งข้อความมาแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 139 ข้อความ สามารถจำแนกความคิดเห็นต่าง ๆ ออกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
ข้อความทักทายรายการ, ทักทายคุณจอมขวัญ 35 ข้อความ
ข้อความสนับสนุนพอลลีนชื่นชมคุณแม่ของพอลลีน 75 ข้อความ
ข้อความแสดงทัศนะขัดแย้งต่อพอลลีน 2 ข้อความ
ข้อความเชิงสั่งสอน “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” 21 ข้อความ
ข้อความกลาง ๆ ไม่สนับสนุนไม่คัดค้าน 6 ข้อความ
น่าสนใจว่ามีผู้ชมส่งข้อความสนับสนุนถึง 75 ข้อความซึ่งถือว่าเกินครึ่งของจำนวนข้อความทั้งหมดเห็นด้วยกับสิ่งที่พอลลีนเป็นแต่ข้อความสนับสนุนเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นมาตรฐานความคิดของสังคมไทยว่ายอมรับคนข้ามเพศ เพราะข้อความเหล่านั้นแสดงการยอมรับพอลลีนเพียงคนเดียวไม่เกี่ยวกับการยอมรับกะเทยหรือคนข้ามเพศโดยภาพรวม
ในขณะที่มีข้อความแสดงความเห็นขัดแย้ง 2 ข้อความ ข้อความดังกล่าวเขียนว่า : คุณจอมขวัญไม่มีเรื่องไหนแล้วหรือ คิดว่าเรื่องนี้ควรยอมรับหรือไง, ครอบครัวที่ไม่เจอเรื่องแบบนี้ก็ชื่นชมกันไปลองเจอเองบ้างจะรู้สึกอย่างแน่นอนถือว่าความคิดเห็นสองความคิดนี้สะท้อนวิธีคิดของสังคมแบบสุดโต่งต่อคนข้ามเพศที่มีอยู่จริงในสังคมไทย
มีข้อความที่แสดงทัศนคติกลาง ๆ จำนวน 6 ข้อความ ได้แก่ ไม่แปลกสังคมเปิดกว้างแล้ว, ดีไม่ดีอยู่ที่ใจ ฯลฯ
ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นมีข้อความที่มีเนื้อหาเหมือนกันอยู่จำนวน 21 ข้อความ เขียนว่า “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานสร้างความเข้าใจเรื่องเพศมานาน 17 ปี สำนวนนี้เราได้ยินมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เราทำงาน ไม่นึกเลยว่าเวลาผ่านไป 17 ปีแล้วเราก็ยังได้ยินสำนวนแบบนี้อยู่
หากมานั่งวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้งขึ้น สำนวน “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” ไม่ได้เป็นคำพูดที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศอย่างตรงไปตรงมา และไม่ใช่คำพูดที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่มีนัยยะของการสั่งสอนซ่อนอยู่
หน้าที่ของเด็กดี
ทำไมสังคมไทยต้องยอมรับเกย์-กะเทยกันด้วยความดี ? เราจะยอมรับเกย์-กะเทยโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขได้ไหม ?
คงเพราะการเลี้ยงดูบ่มเพาะเด็กและเยาวชนในบ้านเราซึ่งมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ “หน้าที่” โดยมองข้ามเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพ” เราคาดหวังให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็น “คนดี” โดยลืมเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น เราถามแต่อนาคตว่าเด็กโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กเป็นLGBT
ในวัยเด็กเราจึงได้ยินเพลง “หน้าที่ของเด็ก” กรอกหูตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน “เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน ...” เพราะอย่างนี้ทุกครั้งที่เราได้ยินหรือรู้ว่าเด็กคนไหนเป็นเป็นเกย์ เป็นกะเทย ประโยคแรกที่เราจะพูดใส่เด็กก็คือ “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี”โดยที่คำ ๆ นี้ได้ละเลยเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็กไปอย่างน่าตกใจ
สังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมที่จะเข้าใจลึกซึ้งอะไรมากมายนักเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพ สังคมไทยมีความคาดหวังสูงต่อเรื่องหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ประเด็นเรื่องสิทธิของLGBT ในบ้านเราจึงเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า บางครั้งก็แทบนิ่งเงียบหากไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชน(NGO’s) มาคอยกระตุ้นเตือนหรือทำการเคลื่อนไหว LGBT ต้องทำตัวให้ดีเสียก่อนจึงจะได้รับสิทธิเสรีภาพในภายหลัง
เหมือนอย่างที่ “พินิจ งามพริ้ง” ต้องทำตัวให้ดีเสียก่อน แล้วจึงจะได้เป็น “พอลลีน งามพริ้ง” ในภายหลัง
ในเมื่อสังคมไทยยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เราจึงมีข้อความ “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” รันอยู่หน้าจอทีวี หรือเมื่อทีวีเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTต้องมีข้อความ “ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลาน” กำกับอยู่เสมอ
แม้ประเทศเราจะถูกมองว่าเป็นแดนสวรรค์ของชาวเกย์ แต่หลายครั้งเรากลับละเมิดสิทธิ์ ละเมิดเนื้อตัวร่างกาย ละเมิดพื้นที่ส่วนตัวของ LGBT ไปอย่างน่าใจหาย การถูกบังคับให้แต่งกายให้ตรงกับเพศกำเนิดในสถานศึกษาในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เด็กนักเรียนถูกกล้อนผม เป็นตัวอย่างของการละเมิดสิทธิ์ที่น่าหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้
เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพจึงนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายหลายเรื่อง ถึงเวลาที่คนไทยควรเรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพให้มากขึ้น เราจะได้ทำร้ายกันน้อยลง
จดหมายรักจาก “พอลลีน” ถึง “พินิจ”
เราอยากให้คุณผู้อ่านได้อ่านจดหมายรักที่ “พอลลีน” เขียนถึง “พินิจ” เผยแพร่ใน THE STANDARDเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 เป็นการเขียนพรรณนาถึงการต่อสู้ภายในระหว่าง “พอลลีน” กับ “พินิจ” ซึ่งถ้าหากพอลลีนไม่เขียนออกมาเราจะไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในจิตใจของพินิจและพอลลีน
ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิง จะมิต้องเผชิญกับภาวะสองตัวตนภายใน แท้จริงแล้วคนทุกคนต่างมีสองตัวตนภายในแอบซ่อนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ท่านอาจจะต้องกลับไปพินิจพิเคราะห์ดูให้ดี ๆ ท่านก็จะพบ “ตัวตน” อีกตัวตนหนึ่งซ่อนอยู่ในตัวตนของท่าน ซึ่งมันอาจจะแฝงเร้นและแนบเนียนกว่าที่ “พอลลีน” กับ “พินิจ” กำลังปะทะกันเสียอีก
เชิญอ่านจดหมายรักจาก “พอลลีน” ถึง “พินิจ” https://thestandard.co/love-letter-from-him-to-her/
ความพึงพอใจทางเพศของพอลลีน
สุดท้าย สิ่งที่พอลลีนต้องตอบคำถามกับสื่อซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะต้องมาตอบเพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของเธอ แต่ในที่สุดพอลลีนก็ต้องตอบเพราะสังคมไทยยัง “ไร้เดียงสา” ต่อเรื่องเพศ อย่างน้อยการตอบคำถามของพอลลีนต่อประเด็นเรื่องความพึงพอใจทางเพศของเธอก็น่าจะทำให้สังคมไทยมี “วุฒิภาวะ” ต่อเรื่องเพศมากขึ้น มีความเข้าใจต่อเรื่องเพศวิถีมากขึ้นเพราะการที่สังคมไม่พูดเรื่องเพศจึงทำให้สังคมไม่ตื่นรู้ในเรื่องเพศ
พอลลีนตอบว่าเธอยังคงชอบผู้หญิง แม้ว่าบางครั้งจะเคยมีความสัมพันธ์กับผู้ชายแต่นั่นก็ทำให้เธอได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้นว่าแท้จริงแล้วความสุขที่พอลลีนต้องการไม่ใช่ความรื่นรมย์ที่เกิดจากอวัยวะเพศด้วยซ้ำ สำหรับเธอแล้วความรื่นรมย์ที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับอวัยวะเพศก็ได้ เหมือนกับที่เธอเขียนสรุปลงใน “จดหมายรักจากพอลลีนถึงพินิจ” ที่ย่อหน้าท้าย ๆ ว่า
ในนิยามหนึ่งฉันอาจจะเป็นผู้หญิงข้ามเพศ แต่ในอีกหนึ่งนิยาม ‘ฉันได้ก้าวข้ามความเป็นเพศมาแล้ว’
ทุกวันนี้พอลลีนไม่ได้รังเกียจตัวเองอีกต่อไป เธอรักตัวเองที่เป็นพอลลีนในแบบที่เธอเป็น และเธอก็รักพินิจด้วย เธอมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น เมื่อมีความสุขมากขึ้นเธอก็สามารถแบ่งปันความสุขนั้นให้กับคนรอบข้างได้ คนรอบข้างก็ได้รับรังสีแห่งความสุขจากเธอนั่นเพราะพอลลีนได้เป็นตัวของตัวเอง ถ้าเราอยากให้คน ๆ หนึ่งมีสุขภาวะทางจิตที่ดีแบบพอลลีน เราควรยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่ให้เขาเป็นในแบบที่เราคิด
พอลลีนยังคงมีพินิจอยู่ภายใน พอลลีนไม่ได้ปฏิเสธพินิจเหมือนกับที่พินิจเคยปฏิเสธพอลลีน เขาทั้งสองปรับหาความสมดุลภายในให้กัน ไม่กดทับเบียดบังกันเหมือนที่ผ่านมา เพราะพอลลีนรู้แล้วว่าการถูกกดทับนั้นเป็นทุกข์อย่างไร
เราหวังว่างานเขียนชิ้นนี้จะช่วยเปิดความเข้าใจของสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความยึดติดในความเป็นเพศชายเพศหญิงของสังคมให้ยืดหยุ่นประนีประนอมและเข้าใจกันและกันมากขึ้น และเชื่อว่ายังมีคนข้ามเพศทั้งชายและหญิงอีกจำนวนมากที่ยังคงรอคอย “เวลาอันเหมาะสม” เพื่อการเปลี่ยนผ่านที่ดี ซึ่งคนรอบข้างเองก็มีส่วนทำให้ “เวลาอันเหมาะสม” นั้นมาถึงในเร็ววันเช่นกัน
ท้ายสุดนี้ มีหนังเรื่องหนึ่งที่อยากแนะนำให้ชมกัน เรื่อง “ไม่ได้ขอให้มารัก” (It gets better) ของผู้กำกับ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2555 หนังเรื่องนี้ถือว่า “มาก่อนกาล” ทีเดียว เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของหญิงข้ามเพศคนหนึ่งที่เติบโตมากับความคาดหวังของครอบครัวที่ต้องการให้เธอทำหน้าที่ลูกผู้ชายซึ่งมีแง่มุมคล้าย ๆ กับชีวิตของพอลลีน
บางทีเมื่อดูหนังเรื่องนี้จบคุณจะเข้าใจมากขึ้นว่าพวกเขาต้องการอะไร ...
แหล่งข้อมูลอ้างอิง