
ความเป็นมา
โครงการ “เพศศึกษาเพื่อเยาวชน” เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาแก่เยาวชนในสถานศึกษา เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖[๑]โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund for HIV/AIDS, TB, Malaria)ผ่านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเป็นการทำงานร่วมกันของ ๒๐ องค์กรภาคีทั้งในภาคการศึกษา สาธารณสุข ภาครัฐอื่นๆ องค์การพัฒนาเอกชน รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในระยะ ๘ ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการทำงานเพศศึกษาในสถานศึกษากว่า ๑,๔๐๐แห่ง ใน ๔๓ จังหวัด
โอกาสที่โครงการ “เพศศึกษาเพื่อเยาวชน” จะก้าวขึ้นสู่ปีที่ ๙ ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของโครงการฯ คือ การจัดประชุมวิชาการเพศศึกษาเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ๆ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ร่วมโครงการ รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในปีที่ผ่านๆมา แนวคิดหลักของการประชุม มีดังนี้
ครั้งที่ ๑ (๒๕๔๗) “รุ่นเรา เราเลือก เรารับผิดชอบ”
ครั้งที่ ๒ (๒๕๔๘) “พบกัน..เพื่อเรียนรู้ เรียนรู้..เพื่อเปิดรับ
เปิดรับ..เพื่อเข้าใจ เข้าใจ..เพื่อเปลี่ยนแปลง”
ครั้งที่ ๓ (๒๕๔๙) “รัก ใคร่ เรียนรู้: Love, Lust, Learning”
ครั้งที่ ๔ (๒๕๕๑) “ชุมชนแห่งการเรียนรู้:ทบทวน ทายท้า ศรัทธา กล้าเลือก”
การประชุมวิชาการในปีนี้ นับเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายโครงการฯ อีก ๓ ปีข้างหน้า ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการทำงานเพศศึกษาในสถานศึกษา และสนับสนุนกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่และภาคนโยบาย ด้วยความตระหนักว่า การขับเคลื่อนเพศศึกษาในระบบการศึกษาควรทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง หากหวังผลทั้งความครอบคลุมของสถานศึกษาและคุณภาพชีวิตของเยาวชนที่ได้เรียนเพศศึกษา ดังนั้น แนวคิดหลักในการจัดประชุมปีนี้ คือ
“ก้าวที่เก้า..ก้าวที่กล้า:เพศวิถีศึกษา เพื่อสร้างสังคมแห่งวุฒิภาวะ”
วัตถุประสงค์การประชุม
-
เพื่อเสริมการเรียนรู้เพิ่มเติมใน ๓ ประเด็น คือ เพศวิถี การพัฒนาเยาวชนเชิงบวก และการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
-
เพื่อสร้างกำลังใจ และความมุ่งมั่น (commitment) ระหว่างคนทำงานเพศศึกษา ทั้งในสถานศึกษาและในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเยาวชน
-
เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษา ทั้งในกลุ่มคนทำงานเพศศึกษาและสาธารณะ
-
เพื่อริเริ่มแนวทางการทำงานของ “คณะทำงานเพศศึกษาจังหวัด” (๔๓ จังหวัด)
รูปแบบและแนวทางการจัดประชุม
การจัดประชุมครั้งนี้ จะเน้นจัดพื้นที่ให้เกิดการสื่อสารพูดคุยและเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อเปิดให้ผู้เข้าประชุมได้เลือกที่จะเข้าร่วมตามความสนใจ ดังนี้
-
พื้นที่แนะนำเครือข่าย “คณะทำงานเพศศึกษา ๔๓ จังหวัด” พร้อม นิทรรศการ “หนึ่งจังหวัด หนึ่งการเปลี่ยนแปลง” OPOC (One Province, One Change) แสดงผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานเพศศึกษา
-
ปาฐกถาเด่น ได้แก่ กระบวนการทางสังคมกับการสร้างวุฒิภาวะ ความฉลาดรู้เรื่องเพศในวัฒนธรรมบริโภค ครูกับการศึกษาให้เยาวชนคิดวิเคราะห์
-
ห้องวิชาการ ผ่านการเสวนา อภิปรายความเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้-ประสบการณ์ เช่น ผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมเรื่องเพศในสื่อ เลี้ยงลูก/ลูกศิษย์ให้มีวุฒิภาวะทางเพศ ครู คส. ๓ กับงานวิจัยชั้นเรียนเพศศึกษา งานวิจัยเพศศึกษาและที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
-
พื้นที่เรียนรู้และบริการ เช่น โรงเรียนไอที แล็ปกริ๊งเสริมความรู้เรื่องสุขภาพทางเพศ คลินิกเลิฟแคร์ คลินิกเลดี้เช็คพร้อมบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แนะนำโครงการ Dance4Lifeฯลฯ
-
ห้องย่อยพัฒนาทักษะ (Skills Building)เช่น การวิเคราะห์เรื่องเพศในสื่อ การดูแลนักเรียนท้องไม่พร้อม ห้องเรียนเพศศึกษาของเรารอบด้านไหม? มาจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นกัน ฯลฯ
-
พื้นที่ผ่อนคลาย เช่น ทำสื่อเพศศึกษาด้วยมือเรา (DIY)มุมสงบ-สนทนากับนักบวช ห้องดูหนัง ฯลฯ
-
ห้องผนึกกำลัง “แกนนำเยาวชน” พัฒนาทักษะเพิ่มเติมของแกนนำในการสื่อสารเรื่องเพศและเอดส์ ผ่านกิจกรรมที่เยาวชนสนใจ (ติดตามกำหนดการล่าสุด ที่ www.teenpath.net ๑๔ ก.ค.เป็นต้นไป)
ผู้เข้าร่วมการประชุม
จำนวนประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ คนประกอบด้วยคณะทำงานเพศศึกษาจาก ๔๓ จังหวัดซึ่งประกอบด้วย ครูเพศศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรพัฒนาเอกชน เยาวชนแกนนำ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ แบ่งเป็นสัดส่วน ดังนี้
ก. เครือข่ายครูและคณะทำงานเพศศึกษาเพื่อเยาวชน ๙๐๐ คน จาก ๔๓ จังหวัด
ข. แกนนำเยาวชน ๒๐๐ คน
ค. เครือข่ายองค์กรด้านเอชไอวี/เอดส์ สุขภาวะทางเพศ และการพัฒนาเยาวชน ๑๐๐ คน
องค์กรภาคีร่วมจัดงานและผู้สนับสนุน
๒๐ องค์กรภาคีเพศศึกษาเพื่อเยาวชน และ สำนักบริหารงานกองทุนโลก กระทรวงสาธารณสุข
องค์กรประสานงาน
องค์การแพธ โทร. ๐ ๒๖๕๓ ๗๕๖๓-๖๕ โทรสาร ๐ ๒๖๕๓-๗๕๖๘ www.teenpath.net
วิชาการติดต่อ อุษาสินี (ใหม่) ๐๘๙-๔๔๙-๗๐๗๔ พสุภา (ม่วง) ๐๘๙-๒๑๗-๒๒๗๗
บริหารจัดการติดต่อ สุภัทรา (สุ) ๐๘๑-๔๔๐-๗๑๔๗
[๑]ชื่อเดิม คือ โครงการ ก้าวย่างอย่างเข้าใจ เริ่มต้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๖ และสิ้นสุดโครงการระยะที่หนึ่ง เมื่อปี ๒๕๕๑ ต่อมา กองทุนโลกได้อนุมัติโครงการให้ดำเนินงานต่ออีก ๖ ปี (ตุลาคม ๒๕๕๑ –กันยายน ๒๕๕๗) ภายใต้ชื่อ โครงการปรับภารกิจการจัดการปัญหาเอดส์สู่กระบวนการกระจายอำนาจในจังหวัดให้ครอบคลุมถ้วนทั่วกลุ่มเป้าหมายและส่งผลอย่างยั่งยืน (ACHIEVED: Aligning Care and Prevention of HIV/AIDSwithGovernment Decentralization to Achieve Coverage and Impact)
|